Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 16/08/2564 ]
วัคซีนบริจาคทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด


          สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว ดังจะเห็นได้จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อ รายใหม่ในแต่ละวันขึ้นไปถึงระดับ 23,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต ต่อเนื่องเกินกว่า 200 รายหลายวันในรอบสัปดาห์ รวมทั้งมีผู้คาดการณ์ว่า หากไม่สามารถควบคุมได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันอาจจะขึ้นไปถึง 60,000 รายก็เป็นได้
          คงไม่ต้องย้อนกล่าวอีกแล้วว่า ผลลัพธ์นั้นเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง แต่สิ่งที่หลายฝ่ายอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดในขณะนี้คือการที่ ประชากรส่วนใหญ่จำนวนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศได้รับการฉีดวัคซีนให้ ครบถ้วน และไม่น่าจะเป็นเพียงการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว เพื่อ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด โดยเน้นฉีดให้กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงสุดเสียก่อนเพราะจาก หลักฐานขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตนั้น เกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว รวมทั้งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่าผิดปกติ มากๆ ด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือวัคซีนที่จะนำมาฉีดนั้น ควรจะต้องมีคุณภาพเพียงพอต่อการต่อสู้กับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาด ส่วนใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้ได้ด้วย
          เมื่อมีการระบาดของไวรัสร้ายเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์สายการแพทย์ทั้งหลาย ก็พยายามที่จะค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนที่สามารถใช้ได้ดีในการต่อสู้กับไวรัสร้าย อย่างน้อยที่สุดในการช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด การระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ เชื้อตัวแรกคือสายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่งในขณะนั้นเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นพบว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย วัคซีนโดยวิธีไวรัลเวกเตอร์ หรือวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ต่างก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันใน การยับยั้งความรุนแรงของอาการหลังจากมีการรับเชื้อโรค ตัวนั้นเข้าไป แต่เมื่อมีการระบาดของโรคมากขึ้น การกลายพันธุ์ ของไวรัสก็เป็นเรื่องปกติที่ย่อมเกิดขึ้น จึงเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ทั้งเบต้า เดลต้า และอื่นๆ ที่จะตามมาอีก ซึ่งวัคซีนที่พัฒนาไว้เดิมอาจจะมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีอีกต่อไป การพัฒนาวัคซีนจึงยังเป็นเรื่องที่จะต้องมีไปเรื่อยๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
          ต่อมาจึงเริ่มพบว่า วัคซีนแต่ละตัวนั้นน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่ก็ไม่อาจต่อสู้กับเชื้อร้ายแต่ละสายพันธุ์ได้ดี เท่าเทียมกัน และวัคซีนบางชนิดเมื่อสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกาย แล้ว มีการลดต่ำลงของภูมิค่อนข้างจะเร็วเพียงแค่ระยะประมาณ 3-4 เดือน หลังจากการได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการที่จะต่อสู้กับไวรัสร้ายไม่ดีเลย
          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านไวรัสวิทยา รวมทั้ง นักระบาดวิทยาในประเทศไทย ได้มีการทดลองเพื่อหาทางสร้างภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นโดยการฉีดวัคซีนไขว้ชนิด ทำให้มีข้อมูลทางวิชาการถึงแม้จะไม่นานนักแต่ก็น่าจะเพียงพอในการที่จะนำเสนอ การฉีดวัคซีนต่างๆ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันมากที่สุด โดยเฉพาะ เพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันให้มากพอที่จะต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าซึ่งกำลังระบาดอย่างหนักในประเทศไทย และทำให้มี ผู้ที่ป่วยมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
          จึงเกิดสูตรการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ดังนี้ถ้าวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย การฉีดเข็มที่ 2 หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ให้ฉีดแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์
          ถ้าวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 เป็นซิโนแวค ให้ฉีดบูสเตอร์หลังจากนั้น 4 สัปดาห์เป็นต้นไปด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา
          ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นแอสตราเซเนกาแล้ว หลังจากนั้น 12 สัปดาห์ ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็น AstraZeneca เช่นกัน
          ซึ่งสูตรนี้เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทยยังมีวัคซีนใช้เพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนชนิด เอ็มอาร์เอ็นเอเข้ามาใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับที่รัฐบาล สหรัฐอเมริกา ได้บริจาควัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ให้กับ ประเทศไทยจำนวน 1.5 ล้านโดส จึงเกิดสูตรใหม่อีก 1 สูตรคือ
          ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนเลยและเป็นกลุ่มเสี่ยง เข็มที่ 1 ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แล้วฉีดซ้ำเข็มที่ 2 หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ จากกระแสเรียกร้องเรื่องการให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเข้ามาใช้ในประเทศไทย จากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด รวมทั้งกลุ่มอื่นและจากข้อมูล เชิงประจักษ์ เรื่องการเสียชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งมีการกระพือข่าวเรื่องสรรพคุณของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นอย่างมาก จนประชาชนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าน่าจะเป็นวัคซีน ที่ดีที่สุด ถึงขนาดที่มีการเรียกว่าเป็นวัคซีนเทพนั้น ทำให้รัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนชนิดนี้เข้ามา โดยจะสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เป็นจำนวน 20 ล้านโดส เป็นลอตแรกซึ่งจะเข้ามาถึงประเทศไทยในเดือนตุลาคม เพื่อจะให้เป็นวัคซีนทางเลือกอีกตัวหนึ่ง
          เมื่อมีการได้รับวัคซีนบริจาคชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเข้ามาแล้วนั้น จึงต้องมีการจัดสรรว่าจะนำไปฉีดให้กับใครบ้างอย่างไร ซึ่งในที่สุดมีข้อสรุปว่าจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวนประมาณ 7 แสนราย ประชากรกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ผู้มีโรค ประจำตัว 7 โรค อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รวมทั้งคนอ้วนผิดปกติ ประมาณ 6.45 แสนราย ที่เหลือสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนนักศึกษาที่ต้องไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่ถูกระบุว่าต้องได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอมาแล้วรวมประมาณ 1.5 แสนราย โดยอาจจะใช้ฉีดเป็นเข็ม บูสเตอร์หรือเป็นเข็มที่หนึ่งเลยก็ได้ และจะมีจำนวนเหลืออีกเพียงเล็กน้อยที่ใช้สำหรับงานวิจัย
          วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอบริจาคนี้ได้ถูกกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยแบ่งการกระจายเป็น 2 ลอต ลอตแรกประมาณ 4.28 ล้านโดส หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มเป้าหมาย ได้กระจายออกไปประมาณวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งได้เริ่มฉีดให้กับกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ประมาณวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ส่วนอีกลอตหนึ่งซึ่งเพิ่งกระจายออกไปมีประมาณ 2.57 แสนโดส ก็จะถูกนำไปทยอยฉีดให้ครบตามที่ตั้งเป้าไว้
          มีประเด็นเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดสรรวัคซีนลอตนี้ เนื่องจากในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้นได้ครอบคลุมถึงผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าด้วย โดยให้แต่ละโรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณา  จึงทำให้เกิดความหลากหลายในการนำวัคซีนที่ได้รับไปฉีดให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นแพทย์หรือพยาบาล เช่น เจ้าหน้าที่นำส่ง เจ้าหน้าที่ ประจำรถพยาบาล เป็นต้น เป็นที่มาให้เกิดการเรียกร้องของบุคคลกลุ่มอื่นๆ ซึ่งแม้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล แต่ก็มีส่วนในการให้บริการกับผู้ป่วยเช่นกัน เช่น เจ้าหน้าที่ประจำรถฉุกเฉินของหน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ในการออกไปรับตัวผู้ป่วยจากบ้านส่งไปสถานพยาบาลหรือแม้แต่การรับศพผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดบางรายจากบ้านไปส่งที่ฌาปนกิจสถานในวัดต่างๆ หรือแม้แต่สัปเหร่อตามวัดต่างๆ ซึ่งก็มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคร้ายไม่น้อยเช่นกัน
          จึงน่าจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐและหน่วยงานในแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ ที่จะต้องดูแลบุคคลต่างๆ เหล่านี้ให้ได้มีโอกาสได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วัคซีนชนิด เอ็มอาร์เอ็นเอ ก็ยังดีกว่าการที่ยังมีบุคคลเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย บางรายไม่ได้รับการฉีดแม้แต่ เข็มเดียว รวมทั้งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งซึ่งท่านได้เสียสละเป็น ผู้ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ เพราะลำพังสัปเหร่อที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ นั้น มีจำนวนไม่พอเพียง จึงทำให้หลายครั้งพวกเราได้เห็นภาพ พระตามวัดต่างๆ ที่สวมชุดป้องกันที่เรียกว่าพีพีอีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด
          ในช่วงระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมานี้ จำนวนผู้ที่ได้รับ การฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ เป็นรายวันสูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ โดยบางวันมีผู้ได้รับการฉีดเกินกว่า 5 แสนราย แต่ก็ไม่แน่ใจ ว่าจำนวนผู้ได้รับการฉีดจะอยู่ในระดับนี้ไปได้อีกนานสักเท่าใด  เพราะถึงขณะนี้ตัวเลขของจำนวนวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามาได้เพื่อฉีดให้กับประชากรในแต่ละเดือนจนกว่าจะถึงสิ้นปีอีกเดือนละประมาณ 10 ล้านโดสนั้น ยังมีความเป็นไปได้หรือไม่
          วัคซีนซิโนแวคที่เคยบอกไว้ว่าจะสั่งเพิ่ม 10.2 ล้านโดส ได้ทยอยเข้ามามากน้อยแค่ไหน เพื่อจะใช้ในการฉีดเป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งแน่นอนว่าจะทยอยส่งให้รัฐได้เดือนละประมาณ 5 ล้านโดส ถึงแม้ว่าจะมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขบางท่านออกมาบอกว่าอาจจะทำข้อตกลงพิเศษซึ่งอาจจะทำให้บริษัท แอสตราฯส่งวัคซีน ซึ่งผลิตจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ให้รัฐบาลได้ถึงเดือนละ 7 ล้านโดสก็ตาม จึงได้แต่หวังว่าในเดือนกันยายน จนถึงกลางเดือนตุลาคมเป็นอย่างน้อย จะมีวัคซีนพอเพียงต่อการที่จะฉีดให้กับประชาชนได้ตามเป้า
          วัคซีนของไฟเซอร์ที่รัฐบาลสั่งเข้า 20 ล้านโดส และวัคซีนโมเดอร์นาซึ่งเป็นเอ็มอาร์เอ็นเอเช่นเดียวกัน ซึ่งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สั่งผ่านองค์การเภสัชกรรม รวมทั้งของสภากาชาดไทย จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส ก็จะเข้ามาถึงประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม และแน่นอนว่าวัคซีนทั้งสองตัวนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการทดสอบของคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะถูกนำออกมาใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่เช่นกันว่า ในช่วงตั้งแต่กลางดือนตุลาคมจะมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนได้มากเพียงพอหรือไม่
          เชื่อว่าไม่มีใครอยากได้ยินข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน ซึ่งเกิดจากการเจ็บป่วยอันมีสาเหตุหลักจากที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือแม้แต่เมื่อได้แล้วฉีดวัคซีนและเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่ดีเพียงพอ ได้อย่างรวดเร็ว ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะระดมสรรพกำลัง ทุกฝ่ายด้วยความสมัครสมานสามัคคีและสอดประสานในการทำงานร่วมกัน รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ได้รับทราบถึงความทุ่มเทในการทำหน้าที่เพื่อปกปักรักษาชีวิตของประชาชนชาวไทยให้รอดพ้นจากเชื้อร้ายนี้ให้ได้ เพื่อคนไทยทั้งหลายจะได้มีชีวิตที่เป็นสุขกลับคืนมา

 pageview  1205468    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved