Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 23/08/2564 ]
ศบค.สั่งตรวจตลาดเชิงรุกหวั่นโควิดลุกลาม 132 แห่ง 23 จังหวัดป่วยอื้อ

  สธ.เตรียมใช้ATKลุยตรวจคัดกรองตั้งเป้าผู้ค้า-แรงงานกว่า2แสนคนนายกฯบี้จนท.ฟันฝ่าฝืนจัดปาร์ตี้ป่วยใหม่วันเดียว19,014-ตาย233
          ยอดติดโควิดไทยยังหลักหมื่น วันเดียว 19,014 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.-ปริมณฑลกว่า 8 พันคน ส่วนหายป่วยวันเดียวอยู่ที่ 20,672 คน แซงหน้า ติดเชื้อ สำหรับผู้เสียชีวิตยังหนัก 233 ศพ นายกฯห่วงพวกฝ่าฝืนจัดปาร์ตี้สังสรรค์ สั่งจนท. ทุกหน่วยคุมเข้ม เจอใครฝ่าฝืนดำเนินคดีเด็ดขาด หากละเว้นหรือจนท.มีส่วนรู้เห็นจะลงโทษ ขั้นเด็ดขาด  ขณะที่ศบค.ห่วงติดเชื้อในตลาดเริ่มกลับมาสูงขึ้น โดยตรวจเจอคนติดเชื้อมากถึง 14,678 คน ใน 132 ตลาด 23 จว.สีแดงเข้ม เร่งตรวจเชิงรุกผู้ค้า-แรงงาน และสุ่มตรวจลูกค้าที่มาซื้อของ เล็งตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 1 เดือน จำนวน 2 แสนคน "อนุทิน" ยันฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดหาย ซิโนแวค สกัดโควิดระบาดช่วงแรกได้ แต่เชื้อ กลายพันธุ์ทำประสิทธิภาพลด วอนอย่า ด้อยค่าวัคซีน
          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.รายงานสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่  19,014 ราย จำแนกเป็นผู้ติดภายในประเทศ 18,808 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,380 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 10 ราย และ ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 196 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,020,432 ราย  ผู้ป่วย ยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 1,049,295 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้  20,672  ราย หายป่วยสะสม 812,210 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 839,636 ราย
          ติดเชื้อใหม่19,014ราย-โคม่า5,239คน
          สำหรับผู้ติดเชื้อใหม่ 19,014 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่รวมเรือนจำ 8,347  ราย 4 จังหวัดภาคใต้ ไม่รวมเรือนจำ 796 ราย จังหวัดอื่นๆ (67 จังหวัด) 9,665 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิต 233 คน เสียชีวิตสะสม 9,226 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 9,320 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 200,339 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 40,827 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 159,512 ราย อาการหนัก 5,239 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,117 ราย
          ตายเพิ่ม233ศพ-ติดจากคนในครอบครัว
          ศบค.ยังรายงานด้วยว่า   ส่วนผู้เสียชีวิต 233 ราย แบ่งเป็น ชาย 140 ราย หญิง 93 ราย คนไทย 226 ราย เมียนมา 4 ราย จีน กัมพูชา และสิงคโปร์ อย่างละ 1 ราย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสียชีวิตสูงสุด 71 ราย สมุทรปราการ 25 ราย สมุทรสาคร 20 ราย นครปฐม 16 ราย ปทุมธานี 14 ราย นนทบุรี 8 ราย นราธิวาส 3 ราย ปัตตานี 3 ราย สงขลา 2 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย ชุมพร ตรัง และพังงา อย่างละ 1 ราย บุรีรัมย์ และสุรินทร์อย่างละ 3 ราย  หนองคาย และขอนแก่นอย่างละ 2 ราย อุดรธานี  นครราชสีมา ชัยภูมิ  ยโสธร  ศรีสะเกษ และนครพนมอย่างละ 1 ราย ตาก 5 ราย อุตรดิตถ์ 2 ราย พิจิตร และสุโขทัย อย่างละ 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 15 ราย สระบุรี 6 ราย  ประจวบคีรีขันธ์ และฉะเชิงเทรา อย่างละ 4 ราย นครนายก 3 ราย อ่างทอง ระยอง และชลบุรี อย่างละ 2 ราย ปราจีนบุรี, สระแก้ว และตราด อย่างละ 1 ราย
          ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรง ของโรค อาทิ ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงติดจากคนในครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน อาชีพเสี่ยง การเข้าไปสถานที่แออัด ไปพื้นที่ระบาด เป็นต้น  ส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย แบ่งเป็น เนเธอร์แลนด์ 2 ราย ไต้หวัน 1 ราย มาเลเซีย 2 ราย กัมพูชา 1 ราย เมียนมา 4 ราย
          ไทยฉีดวัคซีนแล้ว26.8ล้านโดส
          ขณะที่จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 21 สิงหาคม รวม 26,832,179 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 20,272,171 ราย เข็มที่ 2 สะสม 6,017,820 ราย และเข็มที่ 3 สะสม 542,188 ราย   สรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด วันที่ 21 สิงหาคม จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เพิ่มขึ้น 404,078 โดส จำแนกเป็น เข็มที่ 1 ฉีดเพิ่มขึ้น 298,479 โดส สะสม 20,272,171 ราย เข็มที่ 2 ฉีดเพิ่มขึ้น 97,206 โดส สะสม 6,017,820 ราย เข็มที่ 3 ฉีดเพิ่มขึ้น 8,393 โดส สะสม 542,188 ราย
          นายกฯสั่งคุมเข้มจัดปาร์ตี้ทั่วปท.
          ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แสดงความเป็นห่วง หลังรับทราบกรณีตำรวจบุกจับการจัดงานเลี้ยง สังสรรค์ รวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมตัวกันมั่วสุมในแหล่งอบายมุขหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโควิด-19  ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มีข้อห้ามการรวมกันทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ เชื้อโรคด้วย
          คาดโทษหนักจนท.รู้เห็นเป็นใจ
          "นายกฯกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนจังหวัดและท้องถิ่นโดยกระทรวงมหาดไทย ให้ทำงานบูรณาการป้องกันการรวมกลุ่มในลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 พร้อมตรวจสอบสถานที่ที่มักรวมกันจัดงานเลี้ยง หรือแหล่งอบายมุขในพื้นที่ต่างๆ หากพบการทำความผิด ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ห้ามละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มิเช่นนั้น เจ้าหน้าที่จะมีความผิดด้วย และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจให้เกิดกิจกรรมมั่วสุ่ม ต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดด้วยเช่นกัน"รองโฆษกรัฐบาลระบุ
          และย้ำว่า รัฐบาลขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล หากพบพฤติกรรมรวมตัวกันจัดงานเลี้ยง ปาร์ตี้ ขอให้แจ้งตำรวจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงระบาด หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และลดภาระบุคลากรแพทย์ ที่ทำงานหนักต่อเนื่องมานาน
          จับตาตลาด132แห่ง23จว.แพร่เชื้อ
          น.ส.ไตรศุลียังแถลงถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อ โควิดทั่วประเทศ ได้พบว่าในส่วนพื้นที่ สีแดงเข้มโดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดสด และ ตลาดนัด โดยพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน- 10 สิงหาคม พบการติดเชื้อ 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในตลาด ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่นายกฯเป็นประธาน จะได้พิจารณาดำเนินการต่อไป
          ตรวจเชิงรุกผู้ค้า-แรงงาน-ลูกค้า
          สำหรับมาตรการป้องกันการระบาด ของโควิด-19 ในตลาด ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันคน ป้องกันสถานที่(ตลาด)และจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ซึ่งในส่วนป้องกันคนนั้นจะตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ผู้อยู่อาศัยที่ประกอบธุรกิจอยู่โดยรอบ และสุ่มตรวจผู้ซื้อที่เดินทางเข้าไปใช้บริการในตลาด ดำเนินการในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด  โดยแบ่งดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ดำเนินการใน 9 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา และสระแก้ว เป้าหมายที่ตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ (500 แผงขึ้นไป) ตลาดที่เสี่ยงสูง มีชุมชนรอบตลาดรวม 27 แห่ง ระยะที่ 2 ดำเนินการตรวจในตลาดทุกขนาดในจังหวัดสีแดงเข้ม 16 จังหวัด ครอบคลุมตลาด 117 แห่ง และระยะที่ 3 ครอบคลุมตลาดทุกขนาด ในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด รวมตลาด 683 แห่ง
          ตรวจทุกสัปดาห์ตั้งเป้าได้2แสนคน
          รองโฆษกฯกล่าวด้วยว่า การประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะตรวจครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ ATK 808,040 ชุด สำรองสำหรับกรณีตรวจเชิงรุก อีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ ATK ตามมาตรการนี้รวม 850,000 ชุด ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนชุดตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ต่อไป นอกจากตรวจเชิงรุกแล้ว ตามมาตรการนี้จะให้วัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตามลำดับความเสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นควบคู่  เช่น มีแผนเผชิญเหตุ จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก เพื่อรองรับกรณีผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก
          หนูยันฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดหาย
          ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีผลวิจัยของกระทรวง สาธารณสุขว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีประสิทธิภาพ ในการรักษาโควิด ขอยืนยันว่ายังคงมีประสิทธิภาพที่ดี เนื่องจากมีการศึกษา บันทึก วิจัยอย่างเต็มศักยภาพ โดยทุกวันนี้ ผู้ป่วยโควิด หายจากโรคก็เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งนั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกราฟของ ผู้ที่หายป่วยมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในส่วนที่มีกรณีผู้ติดเชื้อฯเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะ สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ส่งผลให้มีการแพร่เชื้อ รวดเร็วของสายพันธุ์เดลต้า แต่ขณะเดียวกัน ในส่วนการทำงานของการกระจายวัคซีนนั้น ถือเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครคาดว่าประชาชนได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว
          อย่าด้อยค่าซิโนแวควัคซีนมีดีทุกตัว
          นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค มาเพิ่ม 12 ล้านโดส มองว่า หากไม่ได้วัคซีนซิโนแวค อาจส่งผลให้มีจำนวนของผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งซิโนแวคมีประสิทธิภาพดีในช่วงต้นปี แต่ตอนนี้เชื้อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งนักวิจัยต่างๆไม่นิ่งนอนใจเร่งศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาโดยการนำสูตรวัคซีนแบบไขว้มาป้องกันความรุนแรงของอาการของ ผู้ติดเชื้อโควิด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน ให้ประชาชนปลอดภัยมากขึ้น โดยลดการแพร่เชื้อฯ ไม่ป่วยหนักและไม่เสียชีวิต ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำให้เร่งกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ขอให้ประชาชนมั่นใจกระบวนการทำงานของวัคซีนฯที่มีในประเทศไทย  อย่าไปด้อยค่ายี่ห้อวัคซีน ใดเลย มั่นใจวัคซีนมีข้อดีทุกข้อ
          โต้ล็อกสเปกชุดตรวจATK
          นายอนุทินยังปฏิเสธกระแสข่าวล็อกสเปกชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK ว่า ในตัวหน่วยงานตนมิได้ควบคุมโดยตรง ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีประธานบอร์ดควบคุมดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ตนมองว่าเป็นอำนาจหน้าที่การตัดสินใจของแต่ละบอร์ดเพียงเท่านั้น ยืนยันไม่มีการล็อกสเปกอย่างแน่นอน
          สปสช.ปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยHI-CI
          นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงระบบจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในระบบชุมชน (Community Isolation) หรือ CI  สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านระบบ Zoom meeting ให้โรงพยาบาล ต่างๆ รับทราบ โดยเดิมสปสช.จ่ายค่า ดูแลรักษาใน Home Isolation หรือ Community Isolation แบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/วัน เป็นค่าใช้จ่ายที่รวม อาหาร 3 มื้อ ค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา และค่ายาพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม หลังใช้หลักเกณฑ์นี้ไประยะหนึ่ง มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนอาหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เบิกจ่าย ค่าอาหารซ้ำซ้อนกับสปสช. และมีข้อเสนอให้แยกค่าใช้จ่ายให้บริการโดยไม่รวมค่าอาหาร
          เริ่มใช้อัตราชดเชยค่าบริการใหม่1ก.ย.
          "ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงปรับหลักเกณฑ์ การจ่ายชดเชยค่าบริการให้เหมาะสม โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป จะเปลี่ยนแปลงในกรณีหน่วยบริการไม่สามารถจัดอาหารให้ผู้ป่วยได้ในช่วงวันแรกๆ หรือมีงบประมาณจากที่อื่นมาสนับสนุนแล้ว ให้หน่วยบริการเบิกค่าใช้จ่ายดูแล ผู้ป่วยแบบไม่รวมค่าอาหาร โดย สปสช. เหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท/วัน ซึ่งเงินค่าอาหาร 400 บาทที่ลดทอนลงไปนั้น อ้างอิงจากราคาจากกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยบริการไหนที่จัดบริการโดยจัดหาอาหารแก่ผู้ป่วยด้วย ให้เบิกในอัตราเดิมคือ 1,000 บาท/วัน" นพ.จเด็จกล่าว และเผยว่า นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังเพิ่มรายการจ่ายเพิ่มเติมคือ ค่าออกซิเจนสำหรับดูแลรักษา สปสช.ก็จ่ายให้ในอัตรา 450 บาทต่อวัน
          นพ.จเด็จระบุว่า สำหรับระบบให้บริการจะเริ่มตั้งแต่ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวก ถ้าจำเป็นก็ส่งต่อเข้าโรงพยาบาล ตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำ หากอาการไม่รุนแรงก็ทำ HI  Cl กรณี เข้า Community Isolation ต้องยืนยันผลด้วย RT-PCR เช่นกัน แต่ถ้าทำ Home Isolation ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งการจ่ายค่าชุดตรวจ ATK ถ้าเป็น Chromatography สปสช.จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาท/ครั้ง แต่ถ้า เป็น FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาท/ครั้ง และถ้าต้องตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR สปสช.จะจ่ายค่าเก็บ Swab 100 บาท/ครั้ง ค่าตรวจแล็บ 1,100-1,300 บาท/ครั้ง และค่าอื่นๆ ในห้องแล็บ 300 บาท/ครั้ง ส่วนค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย กรณีหน่วยบริการจัดอาหารให้ผู้ป่วย สปสช.จ่าย 1,000 บาท/วัน แต่ถ้าหน่วยบริการไม่ได้จัดอาหารให้หรือมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่คือเบิกได้ 600 บาท/วัน
          นอกจากนี้ ในส่วนค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท ค่ายาเฉพาะโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท และกรณีต้องส่งต่อ สปสช.จ่ายค่ารถให้ตามจริง บวกค่าทำความสะอาด 3,700 บาท กรณีต้องเอกซเรย์ปอด จ่ายในอัตรา 100 บาท/ครั้ง และรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ค่าออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ จ่ายอัตรา 450 บาท/วัน และสำหรับการดูแลใน CI เพิ่มเติมค่า PPE หรือค่าอื่นๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน

 pageview  1205473    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved