Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 08/05/2561 ]
ไทย-มาเลย์เจ๋งวิจัยยารักษาไวรัสตับอักเสบซี

 สธ.ร่วมกับมาเลเซีย เผยความสำเร็จโครงการวิจัย "ยา ต้านไวรัสตับอักเสบซี" มีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีต้นทุนที่ถูกกว่ายาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนไทยเตรียมวิจัยสายพันธุ์ที่ 6 หากสำเร็จเชื่อมีผลรักษาครอบคลุมทุกสายพันธุ์
          วันที่ 7 พ.ค. ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าว "ความสำเร็จโครงการวิจัย ยาต้านไวรัส Sofosbuvir+Ravidasvir สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี" โดยมี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พญ.อิซาเบล ออนดิเยอ-เมแยร์ หัวหน้าโครงการวิจัยทางคลินิกด้านเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซี องค์กรเพื่อการริเริ่มจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) รศ.พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (HIV-NAT) และนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมแถลงข่าว
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ติดต่อทางเลือดและ ทางเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก คาดประมาณการผู้ติด เชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประมาณ 71 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 300,000-700,000 ราย โดยจำแนกเป็น 6 สายพันธุ์ ในประเทศไทยมักตรวจพบสายพันธุ์ที่ 3, 1 และ 6 ตามลำดับ โรคไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดหากตรวจพบได้เร็ว ประเทศไทยได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมมาตั้งแต่ปี 2556 รัฐบาลได้สนับสนุนงบในการรักษาปีละ 300-400 ล้านบาท เพื่อจัดหายา Pegylated Interferon และ Ribavirin รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปีละ 3,000 ราย แต่ยาดังกล่าวมีประสิทธิผลในการรักษาเพียงร้อยละ 60-80 ใช้เวลาในการรักษานาน ประมาณ 48 สัปดาห์ และมีผลข้างเคียงสูง
          ต่อมาได้มียาต้านไวรัสตับอักเสบซี กลุ่มใหม่ Direct Acting Antivirals (DAAs) ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาให้หายขาดสูงมากกว่าร้อยละ 90 ใช้ระยะเวลารักษาสั้นลง และผลข้างเคียงจากยาต่ำ แต่ยาดังกล่าวมีราคาแพง โดยเฉลี่ยต่อการรักษาผู้ป่วย 1 ราย คิดเป็นเงิน 16,800-48,720 บาท กรมควบคุมโรคจึงได้ร่วมกับ สวทช. และ DNDi ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระหว่างประ เทศในการวิจัยยา ศึกษาวิจัยยาคู่ใหม่ ได้แก่ Sofosbuvir+Ravidasvir โดยงานวิจัยในครั้งนี้เป็นงานวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย เพื่อประเมินประสิทธิผล และความปลอดภัย ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ทั้งหมด 301 คน เป็นคนไทย 81 คน รพ. 4 แห่ง คือ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นครพิงค์ และสถาบันบำราศนราดูร ผลการศึกษาวิจัยนับว่าเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญประโยชน์ที่ไทยได้จากการเข้าร่วมคือ ข้อตกลงในการเข้าถึงยา Ravidasvir ในราคาถูกพิเศษ ไม่เกิน 10,000 บาทต่อการรักษา 1 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยเพิ่มเติม และจะนำยาดังกล่าวมาใช้จริงในระยะต่อไป
          "ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 300,000 คน แต่เข้าถึงการรักษาเพียง 3,000 ราย คิดเป็นเพียง 1% ดังนั้นเมื่อ DNDi มีโครงการวิจัยเพื่อการเข้าถึงยาร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซีย สวทช.ก็เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว ซึ่งใช้งบวิจัย 9.9 ล้านบาท ในการดำเนินการทดสอบยาระยะแรกในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการตับแข็ง จำนวน 81 คนของไทย ผลปรากฏว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาสูงเกือบ 100% ดีกว่าที่คาดไว้" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          พญ.อิซาเบลกล่าวว่า DNDi ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยและมาเลเซีย ศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 ในโรงพยาบาล 10 แห่งในไทยและมาเลเซีย เพื่อประเมินประสิทธิผล ความปลอดภัย ความทนต่อยา ของยา Sofosbuvir เมื่อใช้ร่วมกับยา Ravidasvir เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะตับแข็ง และเวลา 24 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะต้น ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ หลังจากครบกำหนดการรักษา พบว่าร้อยละ 97 ของอาสาสมัครในโครงการวิจัย มีอัตราการรักษาหายขาดสูงมาก แม้ในผู้ป่วยที่ยากต่อการรักษา
          จำแนกประสิทธิผลได้ดังนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง ร้อยละ 96 ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ร้อยละ 97 โดยไม่ต้องมาปรับยา ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ร้อยละ 96 ถือได้ว่าเป็นสูตรยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังที่มีประสิทธิผลดี และมีราคาไม่แพง หลังจากนี้คงต้องทำการศึกษาในผู้ป่วยเพิ่ม 300 คน เพื่อพิสูจน์ว่ายาสามารถรักษาได้ทุกสายพันธุ์ และมีความเป็นไปได้ว่าจะทำการวิจัยลดการรักษาให้เหลือ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม นอกจากการวิจัยในประเทศไทยและมาเลเซียแล้ว ยังได้มีการวิจัยในประเทศยูเครน อาร์เจนตินา และกัมพูชา ซึ่งก็จะได้มีการดำเนินการขึ้นทะเบียน อย.ของประเทศต่างๆ และจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด
          รศ.พญ.อัญชลีกล่าวว่า จากการศึกษาในอาสาสมัครทั้ง 301 คน พบว่ายาคู่ใหม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 1 ได้ถึงร้อยละ 99-100 เมื่อเปรียบเทียบกับยาสูตรเดิมที่ใช้ Interferon มีโอกาสรักษาหายเพียงแค่ร้อยละ 50 และผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 3 สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 97 ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเพียงร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเพิ่มเติมนั้น ไทยจะมีปัญหาสายพันธุ์ 6 มากกว่าประเทศอื่น ซึ่งในขั้นตอนที่ 2 จะต้องทำการวิจัยการรักษาในสายพันธุ์ที่ 6 หากสายพันธุ์ที่ 6 ได้ผล ยาคู่นี้ก็จะสามารถรักษาได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งตามปกติแพทย์ต้องแยกสายพันธุ์ก่อนการรักษา หากรักษาได้ทุกสายพันธุ์แล้วก็สามารถให้ยาได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ดังนั้นการวิจัยในขั้นตอนที่ 2 ก็จะมีการหารือเพื่อให้การดำเนินการเร็วที่สุด.

 pageview  1205139    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved