Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 23/02/2561 ]
สุขภาพช่องปาก ปัจจัย อายุยืนยาว

 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงวัยของประชากรไทยในปี 2558 พบว่า จากจำนวนประชากร 65.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือประชากรไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ง่าย และเกิดได้กับทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งเนื้อเยื่อกระดูกและฟัน และอวัยวะที่รองรับฟัน ต่อมน้ำลาย และเยื่อเมือกต่างๆ ในช่องปาก เป็นต้น ซึ่งสุขภาพช่องปากหรือฟันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต ประกอบกับปัจจุบันผู้สูงอายุมีความตระหนักในภาวะสุขภาพช่องปากของตนเองมากขึ้น พร้อมกับต้องการที่จะเก็บรักษาฟันของตนเองไว้ให้คงทนและมีความสวยงาม เนื่องจากมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และการเข้าสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
          สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเบื้องต้น ควรเริ่มจากการดูแลความสะอาดของฟัน อุปกรณ์ทำความสะอาด ควรเลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะกับช่องปาก ขนแปรงนิ่ม ควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน เมื่อขนแปรงบานหรือมีอายุการใช้งาน 2-3 เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมควรทำความสะอาดฟันปลอม ด้วยการแช่ในน้ำสะอาดและควรถอดฟันปลอมอย่างน้อยวันละ 4-8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อราในช่องปากได้ ส่วนผู้สูงอายุที่ชอบรับประทานอาหารระหว่างมื้อ ควรเลือกอาหารกลุ่มธัญพืช ถั่ว นม และผลไม้ที่รสไม่หวานจัด เช่น พุทรา ชมพู่ มันแกว เป็นต้น เพราะนอกจากจะมีผลดีต่อช่องปากแล้ว ยังมีวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ รวมทั้งมีเส้นใยช่วยให้ลำไส้ทำงานได้อย่างปกติ
          ด้านทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันในผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ดูแลอย่างถูกวิธีอาจสูญเสียฟัน รวมถึงฟันผุ รากฟันผุ โรคปริทันต์ มะเร็งช่องปาก ภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก และควรเลือกใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาดฟันเพิ่มเติม เช่น แปรงซอกฟัน ทำความสะอาดฟันที่เป็นช่องมีเหงือกร่นหรือฟันห่าง รวมถึงการทำความสะอาดกระพุ้งแก้มไปจนถึงโคนลิ้น เพื่อขจัดอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ตกค้าง และควรรับประทานอาหารเป็นมื้อ ไม่กินจุบจิบ เพื่อลดการตกค้างของเศษอาหารบริเวณช่องปาก ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก การรับประทานอาหารที่มีรสหวาน หรือมีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 4-6 เดือน เพื่อรักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้แข็งแรงอยู่เสมอ.

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved