Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 28/02/2561 ]
ไทยสังคมคนแก่ผู้สูงอายุฆ่าตัวแนวโน้มพุ่งสูง

 พบอาชีพตำรวจเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงที่สุด
          เปิดสถิติผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 2 ขณะที่สังคมไทยเข้าสู่ยุคคนชรา คาดอีก 8 ปีจะมีถึง 14.9 ล้านคน เผยตำรวจเป็นอาชีพที่เสี่ยงฆ่าตัวสูงกว่าคนทั่วไป โดยชั้นยศที่น่าห่วงคือดาบตำรวจ
          กรมสุขภาพจิต * เปิดสถิติผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 2 สาเหตุจากปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด โรคเรื้อรังทางกาย และโรคซึมเศร้า แนวโน้มน่าห่วงในอีก 8 ปี ไทยจะมีผู้สูงวัยมากถึง 14.9 ล้านคน พบตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าอาชีพอื่น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มดาบตำรวจ
          น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ว่า ปัจจุบันมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 คนต่อปี อยู่ในวัยทำงานมากเป็นอันดับ 1 และวัยสูงอายุมากเป็นอันดับ 2 โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ 3 อันดับแรกคือ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด, โรคเรื้อรังทางกาย และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตได้ใช้มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำควบคู่กับการเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้พยายามฆ่าตัวตายในระบบฐานข้อมูลสาธารณสุข (HDC)
          ทั้งนี้ พบว่าร้อยละ 15 ของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ เป็นการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ ซึ่งปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ สืบเนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างของประชากรโลกที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์อีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
          "การที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองย่อมเสื่อมถอยลง ความสามารถในการทำงานย่อมลดน้อยลงไป รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตลดลง กรมสุขภาพจิตจึงได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุกลุ่มป่วย คือ ผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ, ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า 2.ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเรื้อรัง, ติดบ้าน, ติดเตียง และ 3.ผู้สูงอายุกลุ่มดี ในชมรมผู้สูงอายุ" อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุ
          นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยา บาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ได้รับมอบหมายจากกรมสุขภาพจิตให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบงานด้านการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "สบายใจ" เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุกให้มีความน่าสนใจ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผลดียิ่งขึ้น อยากขอให้สังคมและประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังปัญหา โดยสังเกตผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช กลุ่มสูญเสียหรือผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง กลุ่มที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย กลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น เก็บตัว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังในชีวิต พูดสั่งเสีย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ขอให้รีบไปพูดคุย จัดการปัญหาให้เบื้องต้น หากยังไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด หรือโทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
          สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจ นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่าตำรวจมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 อันดับแรกคือ ภาวะวิกฤติในชีวิต และปัญหาสุข ภาพจิตที่พบบ่อย ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการโรคจิตและใช้สารเสพติด นอกจากนี้ยังพบว่าตำรวจ มีโอกาสพบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น เช่น อาชญา กรรม การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การข่มขืน ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงให้เกิดโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งหลายการศึกษาสนับสนุนว่า หากไม่ได้รับการบำบัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจได้
          นพ.ปทานนท์กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของตำรวจในประเทศไทย พบว่าตั้งแต่ปี 2551-2555 มีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 29 นาย และเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 34 นาย ในปี 2557 โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี เป็นยศดาบตำรวจ และรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม การดูแลก็เหมือนบุคคลทั่วไปคือ คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการเตือน เช่น การพูดถึงการตายเชิงสั่งเสีย อารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้
          1.ผู้ที่เกิดภาวะวิกฤติไม่ว่าจากการสูญเสีย ทั้งด้านการงานหรือคนที่รัก 2.ผู้ที่แยกตัวจากสังคม หรืออยู่คนเดียว 3.ผู้มีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน และ 4.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพจิตตำรวจในระบบ ก็จะมี รพ.ตำรวจให้การดูแล รวมถึง รพ.ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่มีจิตแพทย์ก็สามารถขอคำปรึกษาและรับบริการได้
          นพ.ปทานนท์กล่าวด้วยว่า ความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญไม่ได้เป็นได้เฉพาะตำรวจ แต่เกิดคนได้กับทุกกลุ่ม ดังนั้นคนใกล้ชิดก็ต้องมีการดูแลผู้มีกลุ่มเสี่ยงหลังจากเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญ.

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved