Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 28/12/2560 ]
เปิด 10 พฤติกรรม ต้นเหตุเชื้อดื้อยา

  ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเปลี่ยนความคิดเดิมและทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียมากจนเกิดความจำเป็นและรักษาไม่ตรงโรค ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองขึ้นจนกลายเป็น ซูเปอร์บัค (Super Bug) ที่ดื้อต่อยาและรักษาได้ยาก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในที่สุด
          ด้วยเหตุนี้ องค์กรทางการแพทย์ พยาบาลสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรระหว่างประเทศ 25 องค์กร ร่วมจัดประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการ การดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยสนับสนุนโดย องค์การอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) โดยเปิดตัวพันธกิจ"ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา" ด้วยการตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยา 50% ภายใน 4 ปี พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้นยาต้านจุลชีพของประเทศไทยภายใต้แผน Antibiotic Awareness Week 2017 ขององค์การอนามัยโลก
          ปัญหาเชื้อดื้อยายังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องในการใช้ยา ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อธิบายว่า คนไทยมักมีความเชื่อว่า ยาปฏิชีวนะเป็นยาครอบจักรวาลไม่ว่าเป็นอะไรก็กินยาแก้อักเสบ หรือขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องจากสื่อโฆษณาและขาดองค์ความรู้เรื่องยาและสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายเดินเข้าไปร้านชำก็สามารถซื้อยากินเองได้ โดยไม่ได้รับการวินิฉัยโรคอย่างแน่ชัด แท้จริงแล้วคำว่า "ยาแก้อักเสบ" เป็นคำติดปากที่ได้ยินคนเรียกกันบ่อย และเรามักคุ้นกับความรู้ที่ว่าเจ็บคอหรือบาดเจ็บให้ทายยาแก้อักเสบกันไว้ แต่เราไม่ได้รู้ว่าบางครั้งเรากำลังเรียกยาปฏิชีวนะว่า "ยาแก้อักเสบ" ซึ่งไม่ถูกต้องและนำมาใช้เกินกว่าเหตุ เพราะเกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อเป็นหวัดคออักเสบต้องกินยาแก้อักเสบโรคนี้ถึงจะหาย ทั้งที่ยาปฏิชีวินะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เพราะการอักเสบบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1.ติดเชื้อแบคทีเรียรักษาได้ด้วยยาต้านแบคทีเรียที่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เช่น ปวดบวมตามข้อ 2.อักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียร่างกายของมนุษย์มีภูมิที่สามารถหายเองได้ หากมีการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ แต่การกินยากันไว้โดยไม่จำเป็นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาได้ง่ายขึ้น
          แล้วเราควรกินยาปฏิชีวินะเมื่อไหร่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา อธิบายต่อไปว่า เราควรจะกินยาปฏิชีวินะเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ และโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมีสาเหตุจากเชื้อโรคที่แตกต่างกัน แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยโรคติดเชื้อก่อนที่จะสั่งยาปฏิชีวินะให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถทานยาปฏิชีวินะตัวใดก็ได้ เช่น ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียก็ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย ถ้าติดเชื้อไวรัสก็ต้องใช้ยาต้านไวรัสเป็นต้น เราจึงไม่ควรหาซื้อยาปฏิชีวนะที่เราเผลอเรียกกันว่ายาแก้อักเสบกินเอง เพราะการกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อหรือกินไม่ครบตามขนาดและระยะเวลาจะไม่ได้ผลและที่สำคัญคือจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาและหายารักษาได้ยาก
          จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา พบ 10  พฤติกรรม ที่เป็นต้นเหตุเชื้อดื้อยา คือ 1. ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินตามคนอื่น 2.หยุดกินยาต้านแบคทีเรียเมื่ออาการดีขึ้น กลไกลการทำงานของยามีผลต่อเชื้อโดยตรง ไม่ได้มีผลต่อคนดังนั้นต้องกินยาจนหมดตามที่กำหนด เพราะเชื้อยังถูกกำจัดจากร่างกายไม่หมด จึงเป็นเหตุให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ 3.ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากบุคคลากรทางการแพทย์ครั้งก่อนๆ การกินยานั้นต้องให้ตรงกับโรคที่เป็น ควรให้แพทย์วินิจฉัยไม่ควรไปซื้อยากินเอง 4.เคยอมยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะต้านเชื้อโรค ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา เพราะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสมแล้วยังเป็นการใช้ยาเกินจำเป็นด้วย 5.เปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียที่แรงกว่าเดิม เพราะเห็นว่ากินแล้วไม่หาย การรักษาต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะดีขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนยาที่แรงขึ้นอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
          6.เคยเอายาต้านแบคทีเรียมาโรยแผล นอกจากจะเป็นการรักษาที่ผิดวิธีแล้วยังส่งผลให้แผลติดเชื้อและเชื้อในแผลพัฒนาตัวเองไปสู่การดื้อยา 7.ใช้ยาต้านแบคทีเรียผสมในอาหารสัตว์ เป็นการใช้ยาที่ผิดและไม่ได้ผล ทำให้เนื้อสัตว์ที่เรากินเข้าไปอาจจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ป่วยจากเชื้อดื้อยาก็เป็นได้ 8.ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา พฤติกรรมนี้เสี่ยงต่อการแพ้ยาและใช้ยาไม่ตรงกับเชื้อโรคด้วย 9. ด้วยไปซื้อยาแก้อักเสบมากินเอง เพราะหากเป็นการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อก็ไม่ควรกินยาแก้อักเสบเพื่อรักษาอาการ และ 10.การไม่แนะนำผู้ที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียให้ใช้ยาอย่างเหมาะสมทำให้ประชาชนในสังคมขาดความรู้ในการใช้ยาและพัฒนาไปสู่การป่วยเชื้อดื้อยาได้
          ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา โดยความร่วมมือจาก 25 องค์กร เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจากปัญหาเชื้อดื้อยา ภายในปี 2564 มี 6 มาตรการสำคัญคือ 1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภาพใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) 2. การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม 4.การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ 6.การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ50ลดการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับคนร้อยละ 20 และสำหรับสัตว์ร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและใช้ยาต้านจุลชีพเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
          สำหรับ 25 องค์กร ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ การขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) (สรพ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แพทยสภาเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) องค์กรอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)ที่พร้อมร่วมผลักดันและสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้ายจุลชีพประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทด้านสุขภพคนไทย

 pageview  1204269    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved