Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 03/11/2560 ]
เตือนป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิตวันลอยกระทง

 กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงให้ระมัดระวังการจมน้ำ การบาดเจ็บจากการจราจร และการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เผย 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะวันลอยกระทงวันเดียวมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละเกือบ 5 ราย มากกว่าช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่า แนะไม่ปล่อยให้เด็กลงเก็บกระทง เพราะอาจเป็นตะคริวทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2560 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน ผู้ปกครองควรระวังไม่ให้เด็กตกน้ำ จมน้ำ เหตุการณ์ที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ คือการมักลงไปเก็บเศษเงินในกระทง ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการดื่มสุราเข้ามาเกี่ยวข้อง และจากข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2559) ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วันคือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง พบว่ามีคนจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 401 ราย โดยเป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ถึง 111 ราย หรือร้อยละ 27.7 เฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 154 ราย โดยเป็นเด็ก 49 ราย (ร้อยละ 31.8) เฉลี่ยวันละเกือบ 5 ราย ซึ่งมากกว่าในช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นชายมากกว่าหญิงประมาณ 2 เท่า และเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่จมน้ำในวันลอยกระทงพบว่าเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 47.1)
          ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของปี 2559 ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตสำคัญ คือก่อนวันลอยกระทง 1 วัน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 7 ราย มากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะในวันลอยกระทงปีที่ผ่านมาตรงกับวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน ทำให้ในวันอาทิตย์ซึ่งตรงกับวันหยุด ผู้ปกครองจะพาเด็กไปลอยกระทงกันจำนวน และในปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งวันรุ่งขึ้นตรงกับวันหยุดอาจมีโอกาสเสี่ยงทำให้เด็กจมน้ำเพิ่มมากขึ้นได้
          ข้อแนะนำเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำในช่วงลอยกระทงตามมาตรการ "3 ห้าม" ดังนี้ ห้าม : ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง ห้าม : ห้ามเด็กอยู่ใกล้ขอบบ่อ ห้าม : ห้ามไปเก็บเงินในกระทง โดยมีข้อปฏิบัติคือ 1.ผู้ปก ครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ 2.ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพัง และเก็บกระทงแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกได้ 3.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึง 4.สอนให้เด็กใช้นกหวีดเพื่อขอความช่วยเหลือ และ 5.ในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาที่สำคัญในช่วงลอยกระทงคือ การบาดเจ็บจากการจราจร จากข้อมูลในช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง หลังวันลอยกระทง) ใน 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2559) มีผู้เสียชีวิตจากการจราจร 421 ราย เฉลี่ยวันละเกือบ 50 ราย เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคืออายุ 15-24 ปี เสียชีวิต 103 ราย (ร้อยละ 25) จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชน ประกอบกับการจราจรที่หนาแน่นและเป็นช่วงเวลากลางคืนทัศนวิสัยไม่ดี จึงเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการดื่มสุราขณะขับขี่ ไม่ขับรถเร็ว และปฏิบัติตามกฎจราจร
          ส่วนการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ขอแนะนำประชาชน ดังนี้ 1.ไม่ควรเล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรือบ้านเรือน 2.ไม่เก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่อง เพราะทำให้เกิดการเสียดสีและระเบิดได้ 3.ห้ามให้เด็กเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ขอให้รีบโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422.

 pageview  1204943    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved