Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 16/10/2560 ]
'7ปีฟันเทียมพระราชทาน'ช่วยผู้สูงอายุ2.58แสนคน

 สปสช.น้อมรำลึก "ในหลวง ร.๙" จากกระแสพระราชดำรัส "ห่วงใยผู้สูงอายุไม่มีฟัน" สานพลังสู่ "โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ" 7 ปี ช่วยผู้สูงอายุทั่วประเทศใส่ฟันเทียม 2.58 แสนคน ยกระดับคุณภาพผู้สูงอายุไทย
          นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และกระแสพระราชดำรัสความว่า "เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" ก่อให้เกิดการรวมพลัง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิน "โครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ตั้งแต่ปี 2548 ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับฟันเทียมเพื่อให้มีฟันบดเคี้ยวอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อสนองตอบกระแสพระราชดำรัสให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมอย่างทั่วถึง สปสช.จึงกำหนดให้บริการใส่ฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2551 และร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน "โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
          จากการดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ถึง 30 มิถุนายน 2560 หรือประมาณ 7 ปี มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับการใส่ฟันเทียม ทั้งใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก และยังครอบคลุมถึงผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปีที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียม โดยมีผู้ที่ได้รับการใส่ฟันภายใต้โครงการทั้งสิ้น 433,538 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 258,193 คน และผู้ที่ต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 175,345 คน
          นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า จากผลการสำรวจสภาวะสุข ภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ.2555 ของกรมอนามัย พบว่าผู้สูงอายุที่มีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ คิดเป็นร้อยละ 42.2 มีการสูญเสียฟันทั้งปากลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 7.2 และความต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 แต่ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 200,000 คน ทำให้มีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยปีละ 5,000 คน จากปี 2555-2560 เมื่อคิดคำนวณเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจึงยังมีจำนวนสูงถึง 236,000 ราย
          ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือจากคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ได้แก่ 1.คณะทันตแพทย ศาสตร์ ม.มหิดล 2.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5.คณะทันต แพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร 8.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ 9.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และการสนับสนุนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านบนหรือล่าง) ได้รับบริการนับแต่ปี 2554 ถึงสิงหาคม 2560 จำนวน 227,155 คน หรือมากกว่าร้อยละ 95 ของที่คาดการณ์ นับแต่นี้ไป ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากน่าจะได้รับบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน
          "การสูญเสียฟันบดเคี้ยวอาหารนับเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ ในผู้สูงอายุ โดยองค์การอนามัยโลกให้ข้อเสนอแนะว่าหากลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรคเรื้อรังได้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น จากกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงใส่ใจต่อปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สปสช.จักได้น้อมนำมาปฏิบัติสู่ความสำเร็จให้ผู้สูงอายุได้รับบริการใส่ฟันเทียมอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยประชาชนชาวไทยทุกคนขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านทรงห่วงใยต่อ พสกนิกรไทยอย่างหาที่สุดมิได้" เลขาธิการ สปสช.กล่าว.

 pageview  1205022    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved