Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 17/10/2560 ]
เตือนเฝ้าระวังบุตรหลานป้องกันโรคมือเท้าปากสายพันธุ์EV71

กรมควบคุมโรคแนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง และเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว หลังพบแนวโน้มเด็กเสี่ยงป่วยโรคมือเท้าปากด้วยสายพันธุ์ EV71 เพิ่มขึ้น ภาพรวม 1 ม.ค.-9 ต.ค.ป่วยแล้ว 61,674 ราย เสียชีวิต 3 ราย ย้ำหากพบเด็กมีอาการไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสหรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ให้รีบไปพบแพทย์ และแยกเด็กออกมาพักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศของไทยเปลี่ยนแปลงบ่อยและเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมือเท้าปาก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-9 ต.ค.60 พบผู้ป่วยแล้ว 61,674 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน (ป่วย 68,667 ราย เสียชีวิต 2 ราย) นอกจากนี้ รายงานจากโรงพยาบาล 25 แห่งที่เข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคมือเท้าปากในกลุ่มเด็กแรกเกิด-5 ปี ของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปัจจุบันได้รับตัวอย่างผู้ป่วยทั้งหมด 823 ราย ตรวจพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส จำนวน 363 ตัวอย่าง คิดเป็น 44.11% ได้แก่ Enterovirus 71 (EV71) (33.06%) โดยปกติจะพบเชื้อ EV71 ประมาณ 10-20% จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งตรวจ ส่วนสายพันธุ์อื่นที่พบคือ Coxsackie virus A 16 (24.24%) Coxsackie virus A 6 (20.39%) Coxsackie virus A 10 (6.61%) Coxsackie virus A 4 (5.79%)  Rhino virus A (3.03%) และ Enterovirus อื่นๆ (6.88%)
          โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงมากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไปคือ EV71 ซึ่งสามารถพบได้ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ โดยโรคนี้พบได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง เชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ให้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กกลับมาพบแพทย์ทันที
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ บางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ พร้อมจัดอุปกรณ์หรือของใช้ส่วนตัวแก่เด็ก เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.

 pageview  1205007    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved