Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 01/09/2560 ]
รพ.พะเยาเปลี่ยนคนติดเหล้าด้วย'9 ยาใจ'

 เปลี่ยนคนติดเหล้าให้หันมาดูแลสุขภาพและกลายเป็นคนต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนเลิกเหล้า เป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งโรงพยาบาลพะเยาเป็นหนึ่งในสถานพยาบาลที่ได้พิสูจน์แนวทางช่วยเหลือบำบัดผู้ติดสุราเรื้อรังจนสำเร็จ และพยายามจะลบภาพพะเยาเมืองนักดื่มออกไป
          หากจำกันได้ เมื่อ 4 ปีก่อนมีการเผยแพร่รายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จ.พะเยาครองตำแหน่งอันดับ 1 ในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แน่นอนว่าฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่ควบคุมสมองส่วนความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้นักดื่มขาดสติ สำนึกผิดชอบชั่วดี ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว สังคม และความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมา
          เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน (สคล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใน จ.พะเยา ร่วมกับขับเคลื่อนเรื่องการงดดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิเศษ โดยมีโรงพยาบาลพะเยาเป็นหัวขบวนหลักช่วยเหลือดูแลจัดการเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านักดื่ม โดยการบำบัดและดูแลผู้ป่วยติดสุราของโรงพยาบาลพะเยาได้ประยุกต์มาจากโปรแกรมบ้านสมานใจของ ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
          โดย ศิริกาน ดา บุญมี พยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางยาและสารเสพติด รพ. พะเยา เล่าให้ฟังถึงที่มาของโปรแกรมบำบัดว่า กระ บวนการดังกล่าวประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การบำบัดดูแล (Treatment) การฟื้นฟู (Rehabilitation) การบริการสนับสนุนประคับประคอง (Support service) สำหรับโรงพยาบาลพะเยาได้นำมาประยุกต์ให้เหมาะกับคนในพื้นที่ เรียกโครงการนี้ว่า "บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ"
          สูตร 9 ยาใจใช้ระยะเวลาการรักษา 1 ปี ประกอบด้วย 1.วิธีการฟื้นฟูสภาพที่เกี่ยวข้องกับ ทักษะการดำเนินชีวิตประจำวัน 2.การดูแลที่อยู่ อาศัย 3.การดูแลเรื่องยา โดยให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องและให้ความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา 4.การจัดการกับผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ 5.ดูแลเรื่อง สิทธิบัตรและการส่งเสริมสุขภาพ 6.การช่วยเหลือ เรื่องที่พักอาศัยการจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย 7.ช่วย วางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและบริหารรายรับรายจ่าย 8.การสร้างโอกาสในการทำงาน และ 9.การให้คำปรึกษาในทุกระยะ โรงพยาบาลพะเยาร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต.ในเครือข่ายที่รับผิดชอบทั้งหมด 22 แห่ง และผู้นำชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วยติดสุรา
          "เมื่อโรงพยาบาลบำบัดอาการขาดเหล้าด้วยการใช้ยาเพื่อให้สมองเลิกจดจำความสุขจากการติดเหล้า จึงส่งผู้ป่วยไปยัง รพสต.ในการดูแลต่อเพื่อรักษาอาการใจติดเหล้าด้วยขั้นตอน 9 ยาใจ ใช้บ้านผู้ป่วยเป็นสถานพยาบาลในการบำบัด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและติดตามเยี่ยมติดต่อกัน 5 ครั้ง อาทิตย์ละ 1 ครั้ง และระยะติดตาม 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน จุดสำคัญของโรงพยาบาลพะเยา เป็นการดึงความร่วมมือจากผู้นำชุมชนให้ช่วยดูแลผู้ป่วย บางรายไม่มีแม้กระทั่งญาติ ฉะนั้น ผู้นำชุมชนจะคอยร่วมมือกับโรงพยาบาลในการคัดกรองและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา และดูแลหลังจากผู้ป่วยกลับไปยังชุมชน ทั้งยังสร้างให้ผู้ป่วยเป็นบุคคลต้นแบบ เป็นคนหัวใจเพชรต่อไป" ศิริกานดาอธิบาย
          ทีมรักษาผู้ป่วยติดสุราของ จ.พะเยา มีหลักการทำงาน คือ "Change Nobody to Somebody" หรือการเปลี่ยนคนติดเหล้า (ขี้เหล้าหลวง) ให้กลายเป็นคนมีค่าในสังคม โดยผู้นำชุมชนจะให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจและสร้างการมีจิตอาสาให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้เลิกเหล้า นวลจันทร์ สิงห์แก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ท่าจำปี อ.เมือง จ.พะเยา เล่าให้ฟังถึงการร่วมโครงการว่า ถ้าคนในชุมชนไม่ดูแลกันเองแล้วใครจะมาดูแล เมื่อเราเจอคนติดสุราเรื้อรังได้นำปัญหามาคุยกันในหมู่บ้านและช่วยกันดูแล ให้กำลังใจกันและกัน ทาง รพสต.ก็มาให้ความรู้และช่วยดูแลบำบัด เมื่อคนในหมู่บ้านสามารถเลิกเหล้าได้แล้วรู้สึกดีใจ เพราะเราคือคนไทย เป็นพี่น้องที่ต้องคอยดูแลกัน
          ด้าน พล ยาวรรณ ชาวบ้านหมู่ 8 ต.ท่าจำปี จ.พะเยา อายุ 50 ปี ผู้ติดเหล้าอย่างหนัก เล่าฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือแม่หลวงพบตนนอนเมาเหล้าอยู่ข้างถนนในสภาพที่ไม่น่าดูจึงมาช่วยให้ตนเลิกเหล้า
          "ผมกินเหล้าทุกวันติดต่อกันจนทำให้สุขภาพไม่ดี อ่อนเพลีย และทำงานไม่ไหว เมื่อแม่หลวงและพี่น้องในชุมชนพาไปเลิกเหล้า ผมก็ตัดสินใจเลิกด้วยการหักดิบ ยิ่งนึกถึงคนที่ชักชวนผมเลิกเหล้าในวันนั้นก็ทำให้ผมไม่อยากกลับไปกินอีก เข้าพรรษานี้ผมเลิกเหล้าตลอดชีวิต และได้ชักชวนคนติดเหล้าเหมือนผมมาเลิกเหล้าด้วย" นายพล อดีตนักดื่มกล่าวอย่างมุ่งมั่น และพร้อมเป็นอีกพลังในบริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ.

 pageview  1205111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved