Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 31/07/2560 ]
น้ำท่วม!เด็กก็เครียดเป็นแนะพ่อแม่ดูแลใกล้ชิด

 กรมสุขภาพจิตแนะพ่อแม่ตั้งสติ อย่าลืมดูแลลูกท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วม เพราะเด็กก็เครียดเป็น ชี้ค่อยๆ ทำความเข้าใจและจูงใจให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมความช่วยเหลือต่างๆ
          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เด็กๆ อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจไปด้วย อันเนื่องจากการที่ได้เห็นและรับรู้ความทุกข์ความกังวลของผู้ใหญ่และคนในครอบครัว ซึ่งเด็กๆ อาจสูญเสียสัตว์เลี้ยงหรือของเล่นที่ตนรัก ชีวิตประจำวันตามปกติต้องสะดุดลง เช่น โรงเรียนต้องปิด ต้องอพยพย้ายที่อยู่ เป็นต้น รวมไปถึงการที่เห็นคนในครอบครัวและคนที่รู้จักบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์รุนแรงได้ ดังนั้น การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้คือ การเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งเด็กจะเป็นปกติสุขได้หากพ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ ทั้งระหว่างเกิดภัยน้ำท่วมและในภายหลัง เด็กๆ มักต้องการพึ่งพาในเรื่องข้อมูลทั่วไป คำปลอบโยนและความช่วยเหลือ
          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละวัยอาจตอบสนองต่อภาวะน้ำท่วมและผลที่ตามมาแตกต่างกันไปตามระดับอายุ พัฒนาการ และประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน พ่อแม่จึงควรรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่อาจพบในเด็ก เช่น กลัว หวาดหวั่นเรื่องความปลอดภัยของตนและคนอื่นๆ รวมทั้งของสัตว์เลี้ยง กลัวการแยกจากคนในครอบครัว มีพฤติกรรมติดผู้ใหญ่ พ่อแม่ พี่น้อง มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้น สมาธิและความตั้งใจลดลง ถดถอย หลีกหนีผู้อื่น โกรธ หงุดหงิดง่าย ลงมือ ลงเท้า แสดงอารมณ์ก้าวร้าวกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน บ่นเจ็บป่วยไม่สบาย ปวดท้อง ปวดหัว พฤติกรรมการเรียนเปลี่ยนไป เช่น ไม่สนใจเรียน เพ่งความสนใจอยู่กับเรื่องน้ำท่วม มีปัญหาการกิน การนอน ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ พฤติกรรมถดถอย เช่น กลับมาปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น เด็กวัยรุ่นอาจแสดงออกแตกต่างไป มักรู้สึกว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน และแสดงพฤติกรรม เช่น ถดถอยทางสังคม เก็บตัว โกรธ หงุดหงิดได้ง่าย โต้เถียง ขัดแย้งกับผู้ใหญ่ เป็นต้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงควรให้เวลาเพื่อพูดคุยกับพวกเขา แบ่งปันความกังวลใจ ยินดีรับฟังปัญหา และอย่าลืมถามความรู้สึก ความคิดเห็นของเขา สนับสนุนให้เด็กมีส่วนช่วยในงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่เฉยๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นควรสนับสนุนให้เขามีส่วนช่วยในงานของชุมชน งานจิตอาสา เป็นต้น
          "ในยามที่ครอบครัวต้องเผชิญเหตุการณ์วุ่นวายจากภาวะวิกฤติ หลายคนมักลืมดูแลตัวเอง ผู้ใหญ่จึงควรตระหนักว่าเราจะดูแลเด็กได้ดีก็ต่อเมื่อดูแลตนเองได้แล้วเสียก่อน หากพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวเริ่มหงุดหงิด โต้เถียงกัน หรือชวนทะเลาะมากขึ้น นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ามีความตึงเครียดสูง จึงควรช่วยกันหาทางออก ดูแลจิตใจและอารมณ์ของกันและกัน หรือปรึกษาบุคลากรสุขภาพจิต หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว.

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved