Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 23/06/2560 ]
กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจวิเคราะห์หมูหยอง-ไก่หยองยังไม่พบการปลอมปน แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนกตามข่าวโซเชียล

  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจวิเคราะห์อาหารแปรรูปประเภทหมูยอง-ไก่หยอง ในปี 2559-2560 ไม่พบเส้นใยของสำลีในทุกตัวอย่าง แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนก และเลือกซื้อสินค้าแปรรูปที่มีฉลาก อย.กำกับเพื่อความมั่นใจ
          นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวแผยแพร่ทางโลกโซเชียลมีเดียว่า หมูหยองที่นำมาทำหน้าขนมปังและหน้าวาฟเฟิล เป็นหมูหยองปลอมที่ทำมาจากสำลีซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนักนั้น การทำหมูหยองเป็นการแปรรูปเนื้อสัตว์ซึ่งจะทำให้รสชาติดีและสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น สำหรับขึ้นตอนการผลิต หมูหยองจะใช้เนื้อส่วนสะโพกหมูมาหั่นเป็นชิ้นยาวๆ ตามเส้นของเนื้อหมู นำไปต้มกับเครื่องพะโล้ ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ เกลือ ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ จนเนื้อหมูสุกนิ่ม หลังจากนั้นนำเนื้อหมูมาโขลกเบาๆ พอให้เนื้อหมูแตกแล้วนำมีดปลายแหลมหรือส้อมเขี่ยเนื้อหมูให้แยกจากกันเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งปัจจุบันจะใช้เครื่องจักรช่วย แล้วนำไปอบหรือตากแดดเพื่อให้ความชื้นลดลงประมาณ 50% หลังจากนั้นนำเนื้อหมูที่ได้ไปโขลกอีกครั้งเพื่อให้เนื้อหมูเป็นเส้นฝอยๆ และฟูขึ้น แล้วจึงนำมาผัดในกระทะหรืออบไฟอ่อนจนเนื้อหมูเปลี่ยน เป็นสีเหลืองอ่อนและแห้ง ปัจจุบันมีการนำเนื้อสัตว์ชนิดอื่นมาแปรรูปในลักษณะเดียวกัน เช่น ไก่หยองและ ปลาหยอง
          การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่าหมูหยองทำมาจากเนื้อหมูมีการตรวจด้านกายภาพและด้านชีวโมเลกุล ด้านกายภาพจะตรวจ โดยการดูลักษณะของเส้นใยด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายประมาณ 30 เท่า ด้านชีวโมเลกุลจะตรวจดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ ตามที่ระบุมาในฉลากอาหาร เช่น ฉลากระบุ "หมูหยอง" ตรวจดีเอ็นเอไก่ เป็นต้น ซึ่งผลการตรวจจะต้องพบเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ระบุมาในฉลากเท่านั้น จากผลการตรวจวิเคราะห์หมูหยอง-ไก่หยองในปี 2559-2560 พบว่า ด้านกายภาพ ตรวจไม่พบเส้นใยของสำลีในทุกตัวอย่าง ด้านชีวโมเลกุล ตัวอย่างหมูหยอง พบว่ามีทั้งพบเฉพาะดีเอ็นเอหมูอย่างเดียว และพบทั้งดีเอ็นเอหมูและไก่ผสมกันส่วนอาหารที่ระบุบนฉลากว่าเป็น "ไก่หยอง" จากการตรวจวิเคราะห์พบแต่ดีเอ็นเอของไก่เท่านั้น และสำหรับข่าวที่ว่าเมื่อนำหมูหยอง ไปล้างน้ำแล้วมีสีละลายออกมาเนื้อหมูมีสีซีดลงนั้น สาเหตุมาจากสีน้ำตาลของหมูหยองที่เกิดขึ้นจากคาราเมลของน้ำตาล สีของซอสและเครื่องปรุงต่างๆ ที่เอามาผสมกันเมื่อนำไปล้างน้ำจึงสามารถละลายออกมาได้ เนื้อหมูจึงซีดลงเหลือแต่เส้นใยของกล้ามเนื้อหมู
          นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า หมูหยองที่จำหน่ายตรวจไม่พบเส้นใยของสำลี แต่พบว่าทำมาจากเนื้อหมูล้วนๆ หรือผสมเนื้อไก่ ดังนั้นผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวล สามารถบริโภคได้ตามปกติ ในส่วนผู้ประกอบการควรระบุฉลากอาหารให้ตรงกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอาหารดังกล่าวแม้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และอาหารดังกล่าวเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม ตามมาตรา 27 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 (ฉบับปรับปรุงปี 2559) โดยในมาตรา 25 (2) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตนำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 59 มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 5,000 -100,000 บาท สำหรับผู้บริโภคการเลือกซื้ออาหารประเภทที่เรียกว่าหยองนั้น หากเป็นหมูหยองจะมีลักษณะเป็นเส้นใยขนาดแตกต่างกัน ส่วนไก่หยองจะมีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆ ส่วนปลาหยองจะเป็นผงหยาบๆ และควรเลือกซื้ออาหารเหล่านี้ที่ไม่มีกลิ่นหืน ไม่มีเศษวัสดุอื่นเจอปนอยู่ และเลือกซื้อที่มีฉลาก อย.

 pageview  1204517    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved