Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 26/05/2560 ]
อย.เดินหน้าโครงการ"ฉันดีมีสุข" เผยแผนขยายรณรงค์ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด

 นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องโดยมักจะบริโภคอาหารรสจัดประเภทหวาน มั น เค็ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทยและจากรายงานภาระโรคของประชากร พบว่าจำนวนสัดส่วนของผู้เสียชีวิต มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทุกปี นอกจากนี้ยังพบปัญหาฆราวาสถวายผลิตภัณฑ์อาหารใส่บาตรและสังฆทานที่ไม่มีคุณภาพ หรือหมดอายุ  ทำให้พระสงฆ์ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพจำพวกอาหาา ยา เครื่องสำอาง (สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ) ที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยมาบริโภค
          สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จังได้จัดกิจกรรมรณงค์ให้ความรู้ในโครงการ"ฉันดีมีสุข" ภายใต้ธีม "อย.ห่วงใย พระสงฆ์บริโภคปลอดภัยไกลโรค NCDs" เพื่อให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างเหมาะสมและการใช้ยาให้ถูกต้อง รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุดสังฆทานที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้พระสงฆ์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเหมาะสม และส่งต่อความรู้ไปยังสาธุชนในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งฆราวาสที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากจะสามารถดูแลตนเองได้แล้ว ยังสามารถรู้วิธีเลือกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เหมาะสมใส่บาตรหรือถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์อีกด้วย
          โครงการฉัมดีมีสุขนี้ยังมีการประเมินผลโครงการอีกด้วย ซึ่งผลจากการประเมินพบว่าการจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าว สามารถสร้างการรับรู้ได้ในระดับที่ดี และเป็นการจุดหรือกระตุ้นให้พระสงฆ์และฆราวาสเห็นความสำคัญในการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น มีส่วนทำให้พระสงฆ์เห็นความสำคัญในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ขณะเดียวกันพระสงฆ์เองเห็นว่า ควรมีกิจกรรมแบบนี้ในทุกๆ พื้นที่และควรส่งเสริมให้ประชาชนที่ทำบุญตักบาตรรับรู้และมีความเข้าใจในการเลือกอาหารทำบุญได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
          นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการฉันดีมีสุข มีแนวโน้มที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มและบริโภคอาหารมากถึงร้อยละ 84.80 แสดงให้เห็นว่าเมื่อรู้แล้วว่า การบริโภคอาหารที่จะลดหรือหลีกเลี่ยงการเป็นโรค NCDs ได้นั้น จะต้องบริโภคให้ถูกต้องอย่างไร โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ความสำคัญกับกับการอ่านฉลากโภชนาการมากขึ้นถึงร้อยละ 80 และเห็นว่าการอ่านฉลากโภชนาการมีประโยชน์ทำให้ทราบข้อมูลและตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสมมากขึ้น
          โดยในปีนี้ได้จัดกิจกรรมโครงการฉันดีมีสุขจำนวน 3 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2560 โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา ครั้งที่ 2 จัดที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ และครั้งที่ 3 จัดที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์  พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี กิจกรรมประกอบด้วย การตรวจสุขภาพวัดความดันโลหิต ตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือดการอภิปรายถวายความรู้แนะนำการอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร การบรรยายเรื่อง "โภชนาการกับโรค NCDs" และการถ่ายทอดประสบการณ์การรักษาพระภิกษุที่อาพาธด้วยโรค NCDs ซึ่งมีพระสงฆ์และฆราวาสเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทาง อย. จะยังมีการดำเนินโครงการเช่นนี้ในปีงบประมาณต่อไป โดยจะขยายการรณรงค์ไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยสงฆ์ เพื่อเป็นการถวายความรู้แด่พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดของชุมชนเพื่อให้มีการขยายและส่งต่อความรู้ในการบริโภคที่ถูกต้องไปยังญาติโยมและสาธุชนทั้งหลายให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ห่างไกลจากโรค NCDs ให้มากที่สุด
          พระราชปริยัติมุณี , ผศ.ดร.(เทียบ สิริญาโณ)คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวในฐานะตัวแทนพระสงฆ์ว่า โครงการ"ฉันดีมีสุข" เป็นโครงการที่มีประโยชน์ซึ่งถวายความรู้แด่พระสงฆ์ และควรมีกิจกรรมแบบนี้ในทุกๆ พื้นที่ เพื่อปลูกฝังและให้ความรู้แก่ประชาชนที่ทำบุญตักบาตร ให้มีความรู้และความเข้าใจในการเลือกอาหารทำบุญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้กิจกรรมนี้ยังทำให้พระสงฆ์ได้รับความรู้ในประโยชน์ของอาหารแต่ละชนิดและรับทราบถึงการปฏิบัติให้ห่างไกลจากโรค NCDs

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved