Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 23/05/2560 ]
สั่งทำระเบียบช่วยเหลือหมอทำงานหนัก

 ปลัด สธ.มอบหมอมารุต จัดทำร่างระเบียบการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลกระทบระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เบื้องต้นจะจ่าย 4 แสนบาท แต่ไม่เพียงพอ เตรียมหามาตร การอื่นร่วม ด้านหมอธีระวัฒน์เผย กรณีหมอบอล ไม่มีเจตนาสร้างปมดรามา แต่ต้องการชี้ให้สังคมทราบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบ และไทยยังไม่มีกฎห้ามแพทย์ทำงานเกิน 8-12 ชั่วโมง
          จากกรณี นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ หรือหมอบอล อายุ 30 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ป่วยแต่ยังเห็นแก่คนไข้รักษาพยาบาลจนตัวเองเสียชีวิต แม้ปลัด สธ.จะออกแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสตำหนิกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่มีระบบดูแลบุคลากรทางการแพทย์ โดยในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมหารือเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว โดยใช้ชื่อการประชุมว่า "คน สธ." ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแผนการดำเนินการแก้ปัญหาภาระงานแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในระยะยาวว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงเกี่ยวกับภาระงานของแพทย์ที่หนัก ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ยังมีวิชาชีพอื่นๆ ด้วยที่ทำงานเพื่อคนไข้ ก็ต้องวางระบบให้สอดคล้องกับภาระงาน ซึ่งกรณีแพทย์นั้น ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ซึ่งเคยศึกษาเกี่ยวกับภาระงานแพทย์ รวบรวมข้อมูลว่า ภาระงาน เวลาในการทำงาน และการอยู่เวร เป็นอย่างไร ก่อนเสนอมายังตนอีกครั้ง ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงเพื่อนำมาบริหารจัดการอย่างตรงจุด โดยได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่จะทำให้ดียิ่งขึ้นอีก
          ผู้สื่อข่าวถามว่า จากภาระงานที่หนักทำให้เสี่ยงเกิดข้อผิดพลาด และอาจมีผลต่อชีวิต สธ.จะมีมาตร การอย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า ตนเห็นใจและเข้าใจมาตลอด อย่างกรณีพยาบาลขึ้นรถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องมีการช่วยเหลือ ขณะนี้ได้มอบให้ นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ จัดทำร่างระเบียบการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบระหว่างปฏิบัติหน้าที่ คล้ายๆ กรณีการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ โดยในร่างระเบียบช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขนั้น เบื้องต้นจะจ่ายเงินช่วยเหลือ 4 แสนบาท
          "เงินช่วยเหลือเบื้องต้นจริงๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งผมกำลังจะขอหารือรัฐมนตรีว่าการ สธ. เรื่องแนวทางช่วยเหลือเรื่องนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะช่วยเยียวยา ซึ่งอาจไม่ใช่แค่เงิน เช่น หากเป็นข้าราชการสาธารณสุขและมีลูก สามารถเปิดให้ลูกบรรจุข้าราชการได้เลยหรือไม่ หรืออาจมีแนวทางอื่นๆ ซึ่งก็ต้องหารืออีกครั้ง" นพ.โสภณกล่าว
          ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการประชุมที่จะมีในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ว่า ในการนัดประชุมไม่ใช่การสร้างประเด็นดรามา แต่ต้องการผลักดันให้สังคมรับทราบถึงปัญหาความขาดแคลนในระบบสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งรับการป้องกันโรค แต่ก็ไม่สำเร็จ เห็นได้จากช่วง 14-15 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก และมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ในหอผู้ป่วยมีความแออัด เพราะรับคนไข้มากกว่าจำนวนที่รับได้ เพราะไม่สามารถผลักผู้ป่วยไปที่อื่นได้ บางรายเป็นคนไข้ที่ต้องได้รับเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องที่ต้องอยู่ในห้องไอซียู ทั้งนี้ จากความแออัดทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อหลังจากเข้ารับการรักษา ในขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่ส่วนมากทำงานกันติดต่อกัน 35-36 ชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย
          "เพราะความแออัดของผู้ป่วยทำให้แพทย์ตาม รพ.ในมหาวิทยาลัย รพ.ศูนย์ และ รพ.จังหวัด มีการทำงานเกิน 24 ชั่วโมงแน่นอน 100% ซึ่งต้องเข้าใจว่าแพทย์ไม่ใช่เครื่องจักร ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีมาตรฐานเวลาที่แพทย์จะต้องทำงานไม่เกิน 8-12 ชั่วโมง แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ หากมีมาตรฐานก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว.

 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved