Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 10/04/2558 ]
กระดูกพรุน..ภัยเงียบคุกคามร่างกาย
 โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากประชากรผู้สูงอายุ สถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญต่อประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด โดยผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคดังกล่าวถึงร้อยละ 30-40 ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสกระดูกหักร้อยละ 13 หรือเท่ากับประชากรผู้ป่วย 1 ใน 5
          นพ.เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ-การผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงโรคกระดูกพรุนว่า เป็นภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง โครงสร้างของกระดูกบาง กระดูกมีความแข็งแรงลดลง จนส่งผลให้มีโอกาสหักง่าย โดยส่วนใหญ่โรคกระดูกพรุนจะทำให้กระดูกสำคัญ เช่น กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อมือและกระดูกต้นแขนหักง่ายกว่าปกติ โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สามารถเป็นมากขึ้นได้เรื่อยๆ และไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ล่วงหน้ามาก่อน
          สำหรับ สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะที่ร่างกายขาดสารตั้งต้นในการเสริมสร้างกระดูกที่สำคัญ คือ แคลเซียม (ภาวะแคลเซียมน้อย) หรือการขาดสารอาหารและวิตามินดีที่ร่างกายต้องการ การขาดฮอร์โมน รวมไปถึงการออกกำลังกายที่น้อยเกินไป โดยกลุ่มเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนมักจะพบในผู้ที่มีอายุมาก เช่น คนชรา และสตรีผู้ที่เข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน (วัยทอง) แต่หากพบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมักจะมีสาเหตุมาจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับเลือด โรคที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อการสร้างกระดูก หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกระดูกเสื่อม แต่เป็นเพราะการสร้างกระดูกผิดไปกว่าปกติ
          นพ.เปรมเสถียรกล่าวต่อว่า โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการใดๆ ให้ระวัง แต่จะเกิดรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้ว หรือกระดูกสันหลังทรุดก็จะทำให้ปวดหลัง หลังค่อม ดูเตี้ยลง เคลื่อนไหวได้ลดลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางรายอาจมีภาวะอาการฟันหลุดได้ง่ายอีกด้วย
          การเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก วิธีที่ดีที่สุดคือการเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงหนาแน่นอยู่เสมอ โดย  1.การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสารอาหารที่ให้แคลเซียมสูงและวิตามินดีสูง อย่างเช่น นม ผักใบเขียว ปลากรอบ หรือปลาเล็กปลาน้อยที่ทานได้ทั้งเนื้อและกระดูก เป็นต้น โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีกระดูกหัก ร่างกายจะต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติเพื่อเพิ่มมวลกระดูก
          2.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่งเบาๆ (จ๊อกกิ้ง) เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายและกระดูก และควรออกกำลังกายที่ต้องมีกระแทกบ้าง เช่น มีการวิ่ง การกระโดดในเด็กหรือวัยรุ่น เพื่อกระตุ้นให้กระดูกมีการสะสมแคลเซียมมากขึ้น และควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือโดนแดดบ้าง 3.งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ 4.ควรรับแสงแดดอ่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือเย็น เพื่อให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นสร้างวิตามินดีที่มีคุณภาพ  (Active form) เพื่อดึงแคลเซียมไปใช้ในการสร้างมวลกระดูก และ 5.หมั่นดูแลสุขภาพจิต ให้สดใสแข็งแรงควบคู่กับสุขภาพกาย
          อาการน่าสงสัยว่าจะมีภาวะกระดูกพรุน
          1.วัดส่วนสูง ลดลง 3 ซม.ต่อปี ซึ่งเกิดจากกระดูกสันหลังพรุนและกระดูกสันหลังยุบตัว ทำให้ส่วนสูงลดลง
          2.หลังค่อมขึ้น
          3.กระดูกหักง่าย แค่ล้มเบาๆ หรือเกิดอุบัติเหตุไม่รุนแรง โดยเฉพาะที่ข้อมือ หรือข้อสะโพก
          วิธีการตรวจสุขภาพประจำปี จะมีการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (BMD) ซึ่ง WHO รับรอง โดยการตรวจที่กระดูกสันหลังระดับเอว และข้อสะโพก ร่วมกับเจาะเลือดตรวจหาระดับแคลเซียมและวิตามินดี ส่วนวิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด เป็นเพียงการชะลอการเสื่อมหรือสูญเสียของมวลกระดูกด้วยวิธีการใช้ยา เช่น แคลเซียม วิตามินดี และยาลดการทำลายกระดูก ซึ่งยาลดการทำลายกระดูกเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง นอกจากนั้นยังมีการให้ฮอร์โมนทดแทน รวมไปถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการหกล้มที่อาจจะมีโอกาสทำให้กระดูกหักได้.
 pageview  1205015    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved