Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 21/08/2557 ]
สังเวยอีโบลาพุ่ง1,200ศพ!ไทยเฝ้าระวัง
ไทยโพสต์ * สธ.จัดอบรมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องอีโบลาไปในทิศทางเดียว กัน ยันมาตรการคงเดิมคือเฝ้าระวังด่านตรวจคนเข้าเมืองทางอากาศ-ทางน้ำ เน้น 4 ประเทศ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย ด้านอนา มัยโลกสรุปยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งเกิน 1,200 ศพ ไลบีเรียประกาศพบผู้ป่วย 17 คนที่หลบหนีออกจากศูนย์กักกันที่ถูกปล้นสะดมแล้ว แต่ยังพิจารณาแผนกักกันพื้นที่ใกล้สลัม หวั่นเชื้อแพร่คุมไม่อยู่
          เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุม "โครงการสื่อ สารความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่...ไวรัสอีโบลา กระทรวงสาธารณสุข ปี 2557" แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ งานสุขศึกษา งานสื่อสารความเสี่ยง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล ศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ผู้แทนสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรค ผู้แทนกรมประชาสัม พันธ์ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ จำนวน 230 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และเผยแพร่สู่ประชาชนให้เป็นทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่เชื้อโรค การระบาด การติดต่อ การแพร่เชื้อ อาการ วิธีการป้องกันโรค ให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความสับสนจากสื่อต่างๆ
          นพ.วชิระกล่าวว่า มาตรการที่สำคัญ และหลายประเทศเริ่มดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อแพร่ระบาดข้ามประเทศคือ การตรวจคัดกรองผู้ที่เดิน ทางก่อนออกมาจากประเทศที่มีการระ บาดของโรคและก่อนเข้าประเทศปลายทาง จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิชาการ พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดการระบาดของโรค และจนถึงขณะนี้แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยก็ตาม แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดระบบเฝ้าระวังโรคทั้งประเทศ ซึ่งจะสามารถค้นหาผู้อาจติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย ทางอากาศและทางเรือ การจัดระบบการดูแลรักษา ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ระบบมีความพร้อมทันทีหากพบผู้ป่วยหรือผู้สงสัย
          นพ.วชิระกล่าวต่อว่า โรคอีโบลาเป็นโรคประจำถิ่นของทวีปแอฟริกา เชื้อไวรัสจะอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วยคือ เลือด น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลือง ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำอสุจิ การติดต่อกันจะเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารคัดหลังดังกล่าวของผู้ป่วยที่มีอาการโดยตรง ไม่ติดต่อทางอากาศ เชื้อจะแพร่ขณะมีการป่วยแล้ว
          ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของประเทศไทยมีพลเมืองจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วง 21 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรค จำนวน 128 ราย ขณะนี้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีสัญญาณก่อโรคแต่อย่างใด
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 20 สิงหา คม จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยเฉพาะ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยก่อนหน้านี้ทางปลัดสาธารณสุขเคยออกมาระบุว่าจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณางบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดการดูแลควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวภายในประเทศ
          เมื่อวันอังคาร องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) รายงานสถานการณ์ล่าสุด ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตนับแต่พบการแพร่ระ บาดครั้งแรกที่ประเทศกินีเมื่อเดือนมีนาคม จนถึงวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 1,229 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 84 ราย ในช่วงเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 สิงหา คม ส่วนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 113 ราย จำนวนรวมเพิ่มเป็น 2,240 ราย ไลบีเรียเป็นประ เทศที่สถานการณ์รุนแรงที่สุด มีผู้ป่วยใหม่ 48 ราย และเสียชีวิต 53 รายในช่วงเวลาดังกล่าว และทำให้จำนวนผู้ป่วยโดยรวมในประเทศนี้เพิ่มเป็น 834 ราย เสียชีวิตถึง 466 ราย
          ข้อมูลล่าสุดของดับเบิลยูเอชโอรวบ รวมไว้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นบุกปล้นสะดมศูนย์กักกันชั่วคราวในโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้เขตชุมชนแออัดในกรุงมันโร เวียของไลบีเรียเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 สิงหา คม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอีโบลา 17 คนหลบหนี ออกจากศูนย์ เอเอฟพีรายงานเมื่อวันอังคาร ว่า รัฐมนตรีกระทรวงสารนิเทศ ลิวอิส บราวน์ แถลงว่า เจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยทั้ง 17 คนนี้แล้ว โดยทั้งหมดเดินทางมายังโรงพยาบาลเจเอฟเคในเมืองหลวงเอง อย่างไรก็ดี รัฐบาลไลบีเรียกำลังพิจารณาจะปิดล้อมพื้นที่แถบนั้นซึ่งมีประชากรราว 75,000 ราย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อออกนอกพื้นที่จนเกินควบคุม
          รัฐมนตรีกระทรวงสารนิเทศไลบีเรียกล่าวว่า พวกอันธพาลที่เข้าไปปล้นสะดมศูนย์กักกัน อาจกลายเป็นพาหะของโรคไป แล้วในตอนนี้ พวกนั้นขโมยที่นอนและเตียง ซึ่งชุ่มด้วยของเหลวจากร่างกายผู้ป่วยไป ด้วย การกักบริเวณพื้นที่นั้นอาจเป็นทางออกหนึ่ง "เรากำลังเสี่ยงที่จะเผชิญสถานการณ์ที่ยากจะควบคุม" รัฐมนตรีผู้นี้เตือน
          การเข้าโจมตีศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่ว คราวสะท้อนถึงสภาพความวุ่นวายภายในประเทศแอฟริกาตะวันตกที่ยากจนแห่งนี้ ประชาชนพากันหลงเชื่อข่าวลือ ที่มีอาทิ การโทษว่าพวกเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จากชาติตะวันตกนำเชื้ออีโบลาเข้ามาแพร่ในประเทศ, มีการขโมยศพ หรือแม้แต่จงใจแพร่เชื้อใส่คนไข้ กลุ่มคนร้ายที่บุกโจมตีศูนย์บางคนถึงกับประกาศว่า "ไม่มีโรคอีโบลา" และว่าผู้นำประเทศสร้างเรื่องขึ้นเพื่อเรียกเงินบริจาคจากต่างชาติ
          แคเมอรูนเป็นประเทศแอฟริกาชาติล่าสุดที่รัฐบาลประกาศปิดพรมแดนติดกับไนจีเรียทั้งหมด ไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำและทางบก และจะห้ามการเดินทางไปยังประเทศที่พบการแพร่ระบาดด้วย อิซซา ท ชิโรมา บาคารี รัฐมนตรีสารนิเทศของแค เมอรูน กล่าวว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อป้องกันไว้ก่อน ดีกว่ามาตามแก้ทีหลัง
          แคเมอรูนยังไม่พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไนจีเรียที่มีพรมแดนติดต่อกันเกือบ 2,000 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน และผู้ป่วย 15 คน
          ขณะเดียวกัน สหภาพแอฟริกาได้ประ กาศยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศที่กรุงวากาดูกูของบูร์กินาฟาร์โซ วันที่ 2 กันยายนนี้แล้ว แม้ว่าประเทศแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบก็ตาม
          องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อวันจันทร์ด้วยว่า  องค์การได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ, องค์การการท่องเที่ยวโลก, คณะกรรมการท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (เอซีไอ), สมาคมการคมนาคมทางอากาศระหว่างประเทศ และคณะกรรมการการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก เพื่อดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดผ่านการเดินทางและการท่องเที่ยวข้ามชาติ.
 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved