Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 19/11/2556 ]
อากาศเป็นพิษบนท้องถนน เสี่ยงคลอดลูกน้ำหนักน้อย
ผลการศึกษาพบว่า ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และอนุภาคของฝุ่นต่างๆ ที่เกิดจากยวดยานบนถนน ส่งผลให้ทารกที่จะคลอดออกมามีโอกาสเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติเกือบ 20% แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า มีผลกระทบโดยตรงต่อทารก
          งานวิจัยครั้งนี้ได้สำรวจผู้หญิงถึง 74,000 คนใน 12 ประเทศของยุโรป พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับอากาศเป็นพิษจำนวน 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีโอกาสเสี่ยงที่จะคลอดลูกออกมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติ 18%
          ผู้นำการวิจัยครั้งนี้คือ ดร.มารี พีเดอร์เซน แห่งศูนย์วิจัยระบาดวิทยาทางสิ่งแวดล้อม กรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เปิดเผยว่า "ข้อแนะนำของเราจากการศึกษาครั้งนี้คือ เราสามารถป้องกันไม่ให้ทารกที่คลอดออกมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติได้ ด้วยการร่วมมือกันทำให้สภาพอากาศในยุโรปไม่แย่กว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะบรรดาอนุภาคของฝุ่นละอองทั้งหลาย การศึกษาของเราสื่อไปถึงผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายที่จะต้องช่วยกันปรับปรุงคุณภาพของอากาศที่เราต่างต้องหายใจร่วมกัน โดยเฉพาะมีผลมากกับผู้หญิงตั้งครรภ์"
          อนุภาคของฝุ่นละอองต่างๆ นั้นเกิดจากการปล่อยควันเสียของรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งส่งผลกระทบต่อปอด ทั้งยังส่งผลเสียต่อหลอดเลือดและต่อการแข็งตัวของเลือด ส่วนการศึกษาก่อนหน้านี้ก็พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่หายใจเอาอากาศเป็นพิษในท้องถนนเข้าไปนานๆ จะมีผลอาจทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษขึ้นได้ และลูกที่คลอดออกมาอาจจะเป็นโรคหอบหืดหรือมีโอกาสที่ลูกจะเป็นเด็กออทิสติกได้
          ด้าน ดร.แพทริก โอไบรอัน หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณะแพทย์ด้านสูตินรีเวช กล่าวว่า "ในชีวิตประจำวันของเรา เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเผชิญกับอากาศที่เป็นพิษ แต่อากาศในยุโรปยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือแม่ที่ขณะตั้งครรภ์มีพฤติกรรมสูบบุหรี่, มีความดันโลหิตสูง และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ซึ่งล้วนแต่เสี่ยงทำให้ทารกที่ออกมาตัวเล็กกว่าปกติ".
 pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved