Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 17/07/2561 ]
อย่าตื่นตระหนกยาวาลซาร์แทน อย.เตือนเผยผลก่อมะเร็งยังพบแค่ในห้องทดลอง/ไทยมีคนใช้เพียง1-2หมื่นราย

 สาธารณสุข * อย.แถลงอย่าตระหนกผลกระทบยา "วาลซาร์แทน (Valsartan)" มีผู้ป่วยที่ใช้ยาเพียง 1-2 หมื่นราย และยังไม่พบผลกระทบในคน แต่พบในหนูทดลองเท่านั้น รวมทั้งต้องใช้ยานานนับ 10 ปีถึงจะส่งผลเสีย แถมอยู่นอกบัญชียาหลัก ย้ำเตือนคนกินยาเพื่อรักษาความดันโรคหัวใจ อย่าหยุดทันที ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนเป็นยาชนิดใหม่ รวมทั้งสั่งบริษัทเจ้าของยาเรียกเก็บคืนให้หมดภายใน 15 วัน
          วันที่ 16 ก.ค.61 ณ ห้องประชุม หลวงวิเชียรแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการแถลงข่าวความคืบหน้าและแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนกรณีเรียกคืนยา "วาลซาร์แทน (Valsartan)" โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่ อย.มีการเรียกเก็บยารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ เนื่องจากพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยมีการลงนามเมื่อวันที่ 2 ก.ค. โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีบริษัทผู้รับอนุญาตผลิต/นำหรือสั่งยาวาลซาร์แทนเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 7 บริษัท และมีทะเบียนตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย จำนวนทั้งสิ้น 16 ชื่อการค้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีบริษัทผู้รับอนุญาตที่ใช้วัตถุดิบจาก Zhejiang Huahai Pharmaceuticals เพียง 2 ราย จำนวน 5 ตำรับ ได้แก่ (1) ยา VALATAN 80 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 9/54 (NG) (2) ยา VALATAN 160 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 10/54 (NG) (3) ยา VALSARIN 80 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 4/60 (NG) (4) ยา VALSARIN 160 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 5/60 (NG) และ (5) ยา VALSARIN 320 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 6/60 (NG) ซึ่ง อย.เป็นหน่วยงานแรกในเอเชียที่ออกข่าวแจ้งเตือนประชาชน ทั้งนี้ ทะเบียนที่มีตัวยาสำคัญวาลซาร์แทนที่ยังสามารถใช้ได้อยู่ ปัจจุบันรวมทุกความแรงมีจำนวน 38 ทะเบียนตำรับ แบ่งเป็นของผู้นำเข้า 31 ตำรับ และของผู้ผลิตในไทย 7 ตำรับ
          นพ.วันชัยกล่าวว่า ขอย้ำว่าทุกประเทศยังไม่พบข้อมูลยืนยันว่าก่อให้เกิดมะเร็งในคน เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ซึ่งตามหลักการยาการตรวจสอบยาของ อย. ทุกประเทศจะมีการตรวจว่ามีสารสำคัญอะไรบ้างที่ใช้ในตัวยา หากมีการตรวจสอบว่ามีการใช้สารอื่น ไม่ว่าจะอันตรายหรือไม่อันตราย ต้องสั่งระงับก่อน ซึ่งเมื่อยุโรปมีการตรวจสอบยาตัวนี้พบสารปนเปื้อน ไม่ว่าจะอันตรายหรือไม่อันตราย ทาง อย.ไทยก็แจ้งสั่งการให้มีการระงับทันทีตามหลักการมาตรฐานของการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นก็ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งกังวล ใช้ชีวิตตามปกติ และรับเปลี่ยนยา
          ด้าน นพ.สุรโชคกล่าวว่า ตัวยานี้เป็นยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งยาที่ใช้ในการลดความดันมีหลายกลุ่ม ในกลุ่มยาบัญชียาหลักที่ใช้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่ม Losartan (ลอซาร์แทน) ซึ่งยาตัวนี้จะใช้เสริมในกรณีผู้ป่วยที่ใช้ยาในบัญชีหลักไม่ได้ผลหรือไม่ได้ผลดี มีผู้ป่วยที่ได้ยาตัวนี้เป็นจำนวนไม่มาก ในปี 2560 มีการใช้ยาความดันโลหิตทั้งหมด 30 ล้านเม็ด และมียาจาก 2 บริษัท จำนวน 6 ล้านเม็ด มีผู้รับยาไม่ถึง 1 ใน 5 ของยาทั้งหมด ประมาณ 1-2 หมื่นราย โดยยาตัวนี้หากแพทย์ระบุว่าจำเป็นต้องใช้ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
          เมื่อถามว่า ในผู้ป่วยที่มีความกังวลในการใช้ยา จะมีการเยียวยาอย่างไร นพ.วันชัยกล่าวว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีการพบผู้ป่วยในคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยา พบในหนูทดลองเท่านั้น ซึ่งในสัตว์ทดลองนั้นได้รับยาต่อน้ำหนักตัวมากกว่าในคน และได้รับในระยะเวลานานกว่า ในการเยียวยาผู้ป่วยมีสิทธิ์จะทำได้ หากพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าก่อให้เกิดโรคจากยาตัวดังกล่าวจริง แต่ในกรณีนี้ยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์คงทำได้ลำบาก
          เมื่อถามว่า ในกลุ่มที่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบจนต้องหยุดยา ตามหลักต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างไร นพ.สุรโชคกล่าวว่า หากมีการหยุดยาโดยทันทีอาจเกิดอันตรายหรือโรคแทรกซ้อน ดังนั้นในระหว่างที่รอการเปลี่ยนยาก็ขอให้กินยาตัว เดิมไปก่อน และรีบเปลี่ยนยา เพราะยาอาจมีผลข้างเคียงในระยะ 40 ปี แต่หากหยุดยาไปทันทีในคนไข้ที่มีปัญหาความดัน ตัวยาก็ยังรักษาให้หัวใจทำงานปกติด้วย หากหยุดยาไปทันที อาจมีผลในเรื่องโรคแทรก ซ้อนมากกว่าโรคมะเร็ง ซึ่งอาจทำ ให้มีผลต่อหัวใจในเวลาไม่ถึงอาทิตย์ ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งให้ผู้ผลิตมีการหยุดการจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 13-14 ก.ค.ที่ผ่านมา และให้เรียกเก็บตัวยาภายใน 2 อาทิตย์ โดยให้มีการรายผลการเรียกเก็บเข้ามาที่ อย. เพื่อนำไปทำลายต่อไป.

 pageview  1204507    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved