Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 09/07/2561 ]
เปิดคลินิกบำบัด นักพนันบอลโลก

  19รพ.จิตเวชเปิดคลินิกบำบัดผู้ติดพนันบอล
          กรมสุขภาพจิตสั่งรพ.จิตเวชในสังกัด 19 แห่งเปิดคลินิกบำบัดผู้ติดการพนันบอลโลกบอลโลก
          ก.สาธารณสุข * กรมสุขภาพจิตสั่ง รพ.จิตเวชในสังกัด 19 แห่งเปิดคลินิกบำบัดรักษาผู้ติดการพนันบอลโลก รวมทั้งสายด่วน-ออนไลน์ แนะผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสังเกต 9 อาการโรคติดพนัน ตั้งแต่หมกมุ่น พูดปด เสียการงาน มีปัญหากู้หนี้ยืมสิน เป็นอาทิ
          น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการดูแลช่วยเหลือครอบครัวและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากพนันฟุตบอลโลก ว่า ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่งใน 13 จังหวัด เปิดคลินิกบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันบอลที่แผนกผู้ป่วยนอก และให้บริการปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งปรึกษาทางระบบออนไลน์ คือ เฟซบุ๊กสายด่วนสุขภาพจิต 1323-เลิกพนัน ในช่วงเวลา 14.30-22.30 น. ผู้ที่มีปัญหาสามารถขอรับบริการได้ฟรี ทั้งนี้ การพนันเป็นเกมที่ยั่วยุให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้มาก ไม่ว่าผู้เล่นจะอยู่ในสถานการณ์ได้หรือเสีย และเกิดการเสพติดได้ง่าย
          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กรมได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่าการบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ โดยใช้กระบวนการทางจิตวิทยาควบคู่กับการใช้ยา หัวใจหลักจะเน้นการ กระตุ้นให้ผู้รับการบำบัดค้นหาเป้าหมายหรือแรงจูงใจภายในตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การพูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นการพนัน หรือผลดีที่จะเกิดขึ้นหากเลิกเล่นพนันได้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ โดยบำบัดทั้งหมด 4 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 45-50 นาที หากผู้รับการบำบัดได้รับกำลังใจจากครอบครัวหรือคนรอบข้างด้วย ก็จะเป็นแรงหนุนสำคัญทำให้ผลการรักษาได้ผลดี สามารถเลิกเล่นการพนันได้สำเร็จและเร็วขึ้น
          ด้าน พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า สถาบันได้เปิดคลินิกเลิกพนันตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีผู้รับบริการ 30 คน ส่วนใหญ่อายุ 30-39 ปี อาการติดพนันที่พบมากที่สุด 3 อาการ ได้แก่ 1.มีความล้มเหลวในความพยายามที่จะควบคุมหรือ เลิกเล่นการพนัน 2.มักจะกลับไปเล่นแก้มือเพื่อหวัง เอาเงินที่เสียไปคืน และ 3.มีการใช้เงินเล่นการพนัน ต่อครั้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจเท่าเดิม โดยหลังจากได้รับการบำบัดฟื้นฟูแล้ว พบว่าได้ผลดี มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม จำนวนวันและจำนวนเงินที่เล่นการพนันลดลง ความเครียดลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยมีผู้รับการบำบัดครบตามเกณฑ์ 4 ครั้ง จำนวน 24 คน
          พญ.รัชนีกล่าวว่า ในการป้องกันโรคติดการพนัน โดยเฉพาะการพนันฟุตบอล มีข้อแนะนำ 5 ประการ ดังนี้ 1.ให้ตระหนักว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ให้ความสนุก สนาน ควรหาโอกาสเล่นฟุตบอลจริงๆ ด้วย โดยเฉพาะเยาวชน จะได้รู้สึกถึงความสนุกสนาน เพลิดเพลินจากการเล่นฟุตบอลจริงๆ และพยายามจะเอาชนะจากการเล่นเกมจริง แทนความรู้สึกสนุกจากการชมและอยากเอาชนะด้วยการพนันบอล 2.ควรใช้ทักษะในการ ปฏิเสธพร้อมทั้งเดินหนีออกจากสถานการณ์เมื่อถูกชักชวนให้เล่นพนัน 3.หลีกเลี่ยงการสมาคมกับผู้ที่เล่นการพนันฟุตบอล 4.ไม่ทดลองเล่นการพนัน ไม่ว่าจะได้หรือเสีย เพราะจะมีส่วนกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทโดปามีน อาจทำให้รู้สึกสนุก อิ่มเอมขณะเล่น ขณะเดียวกันอาจรู้สึกตึงเครียดและอยากเพิ่มปริมาณการเล่นมากยิ่งขึ้น และ 5.หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่จะทำให้รู้สึกอยากจะเล่นการพนัน โดยเฉพาะการวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มความน่าจะเป็นของการแพ้-ชนะ โดยหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เล่นการพนันด้วย ยิ่งเสี่ยงต่อการอยากลองเล่น รวมถึงการทำนายผลแพ้ชนะจากสื่อต่างๆ ก็มีส่วนยั่วยุให้เกิดการเล่นการพนันฟุตบอลได้เช่นกัน
          สำหรับโรคติดพนันจะมีอาการปรากฏ 9 อาการ ดังนี้ 1.คิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนันตลอดเวลา 2.เล่น พนันโดยเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อยๆ 3.เล่นเสียเป็น หนี้ก็ ยังเล่นต่อ หวังว่าจะได้เงินคืน 4.ยอมทำสิ่งผิดกฎ หมายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้และเล่นพนัน 5.พูดปด ปกปิดปัญหาที่ลุกลามจากการเล่นพนัน 6.มีปัญหากู้หนี้ยืม สินจนเสียหน้าที่การงาน 7.สูญเสียสัมพันธภาพกับคน ในครอบครัวจากการเล่นพนัน 8.ใช้การพนันเป็นทาง ออกในการหนีปัญหา 9.ล้มเหลวทุกครั้งที่คิดจะลดละ-เลิกการพนัน จึงขอให้ประชาชนหรือเยาวชนตรวจสอบตนเอง หากมีความคิดและพฤติกรรมที่กล่าวมานี้ 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดพนัน ขอแนะนำให้รีบปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง.

 pageview  1204961    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved