Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 18/07/2560 ]
เปิดยุทธศาสตร์"คลินิกหมอครอบครัว"ดูแลสุขภาพประชาชนเสมือนญาติ ลดความเหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข

 คลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC : Primary Care Cluster
          ระบบบริการสาธารณสุขที่มี "ทีมหมอครอบครัว" ดูแลประชาชนจำนวน 10,000 คนต่อ 1 ทีม ซึ่งจะประกอบด้วย 9 ส่วนหลัก ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพหรือพยาบาลเวชปฏิบัติ ทันตาภิบาล เภสัชกร เจ้าพนักงานเภสัชกรรม นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย และกายภาพบำบัด
          บทบาทของคลินิกหมอครอบครัวคือ ให้บริการประชาชน ทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา และทุกวัย ตั้งแต่ตั้งครรภ์ วัยทารก วัยเด็กนักเรียน วัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งจะเน้นการให้บริการ ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันโรค งานรักษาพยาบาล งานฟื้นฟูสภาพและงานคุ้มครองผู้บริโภค
          ที่สำคัญคือ จะมีการทำงานเชิงรุกให้บริการถึงชุมชนและบ้าน ทั้งยังจะมีการให้บริการได้ทุกเวลาผ่านทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาประชาชน ซึ่งจะสามารถสอบถามปัญหา เรื่องป้องกันรักษาในยามเจ็บไข้ได้ป่วยผ่านทางกลุ่ม LINE หรือ facebook ได้ตลอดเวลา
          สำหรับแนวคิดการสร้าง "คลินิกหมอครอบครัว" เกิดจากการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรัฐบาล เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้บริการประชาชน และระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งขับเคลื่อนด้วยโรงพยาบาลขนาดใหญ่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆเป็นหลักส่งผลให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล ใช้เวลาในการรอรับบริการนาน ทั้งยังเกิดปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลและขาดความมั่นคงในระบบสาธารณสุข
          รัฐบาลและ สธ.จึงได้ให้ความสำคัญกับนโยบายคลินิกหมอครอบครัวเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพทัดเทียมกันและยั่งยืน
          เป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้คลินิกหมอครอบครัว มีแผนงานในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2559-2569 โดยวางแผนว่าในปี 2559 ซึ่งถือเป็นปีแรกของการสร้างคลินิกหมอครอบครัว จะต้องสร้างทีมหมอครอบครัวให้ได้ 48 ทีมในเขตเมือง 16 จังหวัด ส่วนในปีงบประมาณ 2560 จะต้องมีการจัดทีมในเขตชนบทหรือโรงพยาบาลชุมชนทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 ทีม และในปีงบประมาณ 2569 จะต้องมีทีมหมอครอบครัวให้ได้ 6,500 ทีม เพื่อดูแลประชาชน 65 ล้านคนครอบคลุมทั่วประเทศ
          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเล่าเพื่อขยายภาพคลินิกหมอครอบครัวว่า สิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากคลินิกหมอครอบครัว คือ การให้บริการที่เป็นองค์รวม ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีแบบครบวงจร ซึ่งจะใช้ระบบการแพทย์ปฐมภูมิดูแลประชาชนในทุกมิติสุขภาพ มีแพทย์เฉพาะทาง ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และทีมสหวิชาชีพดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ ประชากร 10,000 คนต่อ 1 ทีม ขณะนี้การขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัวได้รับผลการตอบรับที่ดีสามารถดำเนินการได้แล้ว 596 ทีมใน 12 เขตสุขภาพ ครอบคลุม 76 จังหวัด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวจำนวน 700 คน ดูแลประชากร 6,287,809 คน สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานในระยะสั้นเห็นผลชัดเจนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ช่วยลดการใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ได้ถึงร้อยละ 60 มีเฉพาะ ผู้ป่วยที่จำเป็นเท่านั้นที่ไปใช้บริการในโรงพยาบาลใหญ่ทำให้แพทย์สามารถเน้นการดูแลเฉพาะทางได้ดียิ่งขึ้น 2.ลดเวลารอคอยในโรงพยาบาลใหญ่จาก 172 นาที เหลือ 44 นาที และ 3.ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วในการเดินทางไปโรงพยาบาลได้ 1,655 บาท
          "สำหรับปี 2560 สธ.ได้ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วประเทศ จัดตั้งคลินิกหมอครอบครัวในเขตเมือง และเพิ่มในเขตชนบทอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งในปี 2569 คนไทยจะมี แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ 6,500 ทีมคอยดูแล แต่ขณะนี้ต้องเตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเพื่อให้แพทย์เหล่านี้ได้ดูแลประชาชนได้ทุกครอบครัวและทุกเรื่อง โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์เพื่อให้ดูแลทีละอวัยวะทีละโรค เพราะหมอครอบครัวจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถดูแลโรคได้ทุกโรคอย่างใกล้ชิดเสมือนมีญาติคอยดูแล" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เล่าถึงความสำคัญของการพัฒนาคลินิกหมอครอบครัว
          นพ.โสภณ ยังเล่าถึงแนวทางการพัฒนาคลินิกหมอครอบครัวด้วยว่า ขณะนี้ สธ. ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวผลิตแพทย์เพิ่มอีก 5,200 คน และในปี 2561 ได้เพิ่มโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 71 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิต แพทย์ได้เพิ่มอีกเกือบเท่าตัวทั้งนี้เพื่อให้มีแพทย์ในคลินิกหมอครอบครัวดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนและรองรับภาวะโรคต่างๆทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น
          ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีแบบครบวงจร น่าจะเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน ซึ่ง "คลินิกหมอครอบครัว" น่าจะสามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างดี เพราะคอยให้การป้องกันดูแล รักษา และฟื้นฟู ที่เปรียบเสมือนประชาชนได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากญาติพี่น้องและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล
          แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากขอฝากคือ เรื่องคุณภาพและมาตรฐาน ในการสร้างคลินิกหมอครอบครัว ที่ต้องมีความเอาจริงเอาจัง เพราะหากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ตรงกับโรค อาจจะทำให้กลายเป็นผลร้ายจากการที่ผู้ป่วย สูญเสียโอกาสในการรักษาโรคบางโรค หรืออาจทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น
          คงน่าเสียดายหากโอกาสดีๆในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของประชาชนด้วยคลินิกหมอครอบครัวต้องกลายเป็นฝันสลาย.

 pageview  1204848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved