Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 31/10/2557 ]
"อีโบลา" กันไว้ก่อนล้อมคอก
 “อีโบลา 2014” ยังไม่หยุดสถิติการระบาด ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย
          ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา คาดประมาณโดยใช้แบบจำลองสถานการณ์เอาไว้ว่า ถ้าประสิทธิภาพการควบคุมโรคในปัจจุบันไม่ดีขึ้น...ภายในปลายเดือนมกราคม 2558 จำนวนผู้ป่วย ในประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนจะมีประมาณ 550,000 คน
          แต่ถ้าแย่ไปกว่านี้ หากมีการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง สถานการณ์น่าจะเลวร้ายกว่านี้ โดยที่ตัวเลขจะสูงขึ้นเป็น 1.4 ล้านคน
          ประเด็นสำคัญมีว่า...ระบบสาธารณสุขในประเทศระบาดที่อ่อนล้าใกล้พังพาบ และบุคลากรสาธารณสุขเกิดติดเชื้อเสียเอง
          ศาสตราจารย์นายแพทย์ ไมเคิล คาลาแฮน (Michael Callahan) โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School), สหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์พิเศษ (visiting Professor) ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกอีกว่า
          ประเด็นควรรู้ “อีโบลา” มีต้นกำเนิดจากค้างคาวและแพร่สู่สัตว์อื่นๆ เช่น ลิง แม้แต่สัตว์ฟันแทะ และแพร่สู่คนต่อได้...นำมาซึ่งการที่ทางศูนย์ฯ สามารถทำการตรวจผู้อยู่ในข่ายสงสัยในประเทศไทยได้เลย
          มาตรการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์ป่าสู่คนที่ประเทศไทยดำเนินการมานาน 12 ปี โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการตรวจค้างคาวไทย 699 ตัว ในภูมิภาคต่างๆ และลิง 50 ตัว...เป็นการเตรียมความพร้อมที่ดี
          ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ www.cueid.org ให้ข้อมูลควรรู้ 7 ประการเกี่ยวกับอีโบลาเสริมด้วยว่า
          หนึ่ง...สายพันธุ์อีโบลา Zaire ที่ระบาดขณะนี้เคยระบาดมาแล้ว 7 ครั้งในแอฟริกา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมหลายร้อยตำแหน่ง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้บ่งชัดเจนว่าไวรัสมีความสามารถในการแพร่ได้รุนแรงเป็นพิเศษกว่าเดิม
          หรือ...สามารถแพร่ทางอากาศผ่านทางการหายใจ เหมือนอย่างซาร์สหรือโรคอีสุกอีใส
          สอง...อาการของอีโบลาที่ควรสังเกต ได้แก่ ท้องเสีย สะอึก ถึงแม้อีโบลาจะมีอาการคล้ายไข้ทั่วไป หรือรวมทั้งไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เพลีย ไม่มีแรง และคลื่นไส้ อาเจียน แต่อีโบลาจะท้องเสียภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่เริ่มต้นมีอาการ
          ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ ย้ำว่า อาการสำคัญที่ทีมคุณหมอไมเคิลพบในช่วง 3 เดือนที่อยู่ในแอฟริกา คือ การสะอึกที่มีพร้อมไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งไม่พบในโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ
          สาม...ถ้าจำเป็นต้องไปแอฟริกา ต้องแน่ใจว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ อย่างถูกต้องพร้อมมูล เพราะถ้าไม่ได้วัคซีนแล้วเกิดมีอาการไม่สบาย มีไข้ อาจจะเกิดจากโรคอื่นๆในแอฟริกาที่ไม่ใช่อีโบลา ต้องเตรียมยาจำเป็นสำหรับโรคทั่วๆไปให้พร้อม เมื่ออยู่ในแอฟริการะมัดระวังเป็นพิเศษเรื่องน้ำดื่ม อาหาร ที่เป็นตัวการของโรคที่อาการคล้ายอีโบลา เช่น โรคท้องเสียจากแบคทีเรีย ไทฟอยด์ที่มีอยู่ชุกชุม
          ถ้าเป็นไปได้ ไม่เดินทางไปประเทศไลบีเรีย กินี และเซียร์ราลีโอน อย่างน้อยตั้งแต่วันนี้จนถึงอีก 9 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นเวลาที่คาดการณ์ว่าอีโบลาจะสงบ...หากเจ็บป่วยในแอฟริกา หลีกเลี่ยงสถานพยาบาล โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยอีโบลา เลือกโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือและระบบพร้อมในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค
          ปัจจัยสำคัญ...หลีกเลี่ยงการสัมผัสใดๆ กับสิ่งคัดหลั่งทุกชนิด กับคนที่สงสัยว่าจะป่วย
          ล้างมือบ่อยๆเป็นประจำด้วยสบู่มาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาล หรือถ้าไม่มีสบู่ในแอฟริกาใช้น้ำยาซักผ้าขาว เจือจางในน้ำ อัตราส่วน 1:20 (0.2% hypochlorite)....ล้างมือบ่อยๆ เป็นประจำด้วยน้ำยาหรือ เจลแอลกอฮอล์ จะใช้ได้ผลดีมาก ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่ามีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 62% ของเอทานอล เมื่อสัมผัสกับพื้นผิวเครื่องใช้ เก้าอี้ ประตู ลูกบิด ในโรงแรม ภัตตาคาร ในรถยนต์ สนามบิน ให้ล้างมือทันทีด้วยแอลกอฮอล์
          ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือเสื้อผ้า เครื่องใช้จากคนอื่น ซึ่งอาจจะปนเปื้อนเชื้อไวรัส ทั้งจากตัวเจ้าของเองหรือจากแหล่งอื่นๆ... ห้ามแตะต้องศพ ถึงแม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอีโบลาหรือไม่ หรือ แม้แต่ห้ามแตะต้อง อุ้มสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่า ค้างคาว หรือให้อาหารลิงในแอฟริกา
          ถ้ามีไข้เกิน 38.6 องศาเซลเซียส และมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือมีจ้ำตามผิวหนังโดยไม่ได้ถูกกระแทก เลือดออกตามเหงือก อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด พบแพทย์ด่วน และต้องแน่ใจด้วยว่ามีการตรวจหามาลาเรีย ไข้เลือดออก เด็งกี่ ไทฟอยด์ด้วย ไม่ใช่ตรวจแต่อีโบลา
          สี่...ประเทศไทยจะป้องกันการนำเข้าอีโบลาจากแอฟริกาได้อย่างไร
          ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ บอกว่า ธุรกิจในประเทศไทยที่ต้องการคนทำงานจากแอฟริกาต้องมีการยืนยันการตรวจสุขภาพจากประเทศในแอฟริกา พร้อมกับเมื่อมาถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะทางการคมนาคมใดก็ตาม ต้องผ่านการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด และควรรอจนกว่าคนคนนั้นผ่านพ้นระยะ 21 วันไปแล้ว โดยในระยะดังกล่าวต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ทราบที่อยู่และต้องให้รายงานทันทีที่มีอาการผิดปกติ รวมทั้งรายงานบุคคลที่สัมผัสรวมทั้งเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วันเริ่มมีอาการ เพราะเชื้อไวรัสจะเริ่มปล่อยจากตัวได้ทันทีที่เริ่มมีอาการ
          ห้า...ถ้ามีผู้ป่วยอีโบลาในประเทศไทย โรงพยาบาลจะรับมือไหวหรือไม่
          การเตรียมความพร้อม ทั้งสถานที่ ห้องแยก ห้องน้ำแยก การฆ่าเชื้อไวรัสจากเสื้อผ้า เครื่องใช้ สิ่งปฏิกูลจากคนไข้ ต้องเริ่มปฏิบัติตระเตรียมแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่บัดนี้ ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมบุคลากรที่ได้รับการอบรม ฝึกซ้ำๆในการดูแลผู้ป่วยที่ถูกกักกันระหว่างที่ยังไม่ทราบว่าเป็นหรือไม่ หรือเมื่อเป็นแล้ว อุปกรณ์ป้องกันตัว กันการติดเชื้อ ต้องเตรียมแต่เนิ่นๆ เพื่อใช้ทั้งซ้อมก่อนและเมื่อมีการระบาดจริง
          หก...ความไม่ประมาท ซักซ้อมทำความเข้าใจ คัดกรองผู้ป่วยน่าสงสัย ไม่ให้ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ ทั้งตั้งแต่ก่อนเข้าห้องฉุกเฉิน ก่อนเข้ารับการตรวจตามปกติ ถ้าอยู่ในข่ายต้องแยกตัวผู้ป่วยทันที และใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเสมือนผู้ป่วยเป็นอีโบลา...หน้ากากอนามัย เสื้อคลุมกันน้ำ รองเท้า แว่นตา
          เจ็ด...ให้รู้ไว้ว่าการติดเชื้อบนเครื่องบินจะเกิดได้ยาก เนื่องจากไวรัสจะแพร่กระจายได้ต่อเมื่อผู้ป่วยต้องมีอาการ และถ้าอาการน้อยยังเดินไปมา ช่วยตัวเองได้ทุกอย่าง ปริมาณไวรัสที่จะถูกปล่อยจะมีปริมาณน้อยในสิ่งคัดหลั่ง และความเสี่ยงในการติดขึ้นอยู่กับประเภทของการสัมผัสว่ามีความสนิทแนบชิดในการสัมผัสระดับใด
          ทั้งนี้อาจมีสถานที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ห้องน้ำในเครื่องบิน ซึ่งสิ่งคัดหลั่ง น้ำลาย ปัสสาวะอาจจะติดค้างในอุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องน้ำ โดยเฉพาะถ้าผู้ติดเชื้อเริ่มแสดงอาการขณะเดินทาง โดยเฉพาะมีท้องเสีย จะทำให้โอกาสการแพร่สูงขึ้น น้ำยาหรือเจลเหลวแอลกอฮอล์ต้องเตรียมไว้เสมอให้ผู้โดยสารบนเครื่อง สำหรับล้างมือบ่อยๆ เวลาสัมผัสพื้นผิวเครื่องใช้ต่างๆในเครื่องบิน หรือห้องน้ำ
          การระบาดของเชื้อร้าย “อีโบลา” แม้ว่าจะน่ากลัว แต่การเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการรัดกุม ชัดเจน จะช่วยให้มหันตภัยร้ายลดความน่าสะพรึงกลัวลงไปได้.
 
          สายพันธุ์อีโบลา Zaire ที่ระบาดขณะนี้เคยระบาดมาแล้ว 7 ครั้งในแอฟริกาแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมหลายร้อยตำแหน่งแต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้บ่งชัดเจนว่าไวรัสมีความสามารถในการแพร่ได้รุนแรงเป็นพิเศษกว่าเดิมหรือ...สามารถแพร่ทางอากาศผ่านทางการหายใจเหมือนอย่างซาร์สหรือโรคอีสุกอีใส
 pageview  1205087    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved