Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 24/10/2557 ]
"กำลังใจ-บำบัด"จัดระเบียบ"กองทุนสุขภาพตำบล"ชู2ประสานรับสังคมผู้สูงอายุ
 จัดระเบียบ“กองทุนสุขภาพตำบล”ชู2ประสานรับสังคมผู้สูงอายุ
          ปี 2568 หรืออีกเพียง 11 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว นั่นหมายถึง จำนวนผู้สูงอายุจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ของประชากร กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน ทั้งล่าสุดผลการศึกษาปัญหาการเจ็บป่วยจากการตรวจร่างกายผู้สูงอายุ ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศยังตอกย้ำด้วยว่ามีผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคนที่สุขภาพไม่ดี นอนติดเตียง และต้องพึ่งคนอื่นดูแล
          และยิ่งเจาะลึกลงไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตระหนักว่าปัญหาผู้สูงอายุที่กำลังจะเพิ่มขึ้นคือเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ ด้วยเหตุนี้หลายๆหน่วยงาน จึงพยายามหามาตรการ วิธีการเพื่อสกัดกั้นปัญหาต่างๆ
          โดยขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 39 ล้านบาทในปี 2558 เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและเตรียมมาตรการดูแลโดยการใช้ “กองทุนสุขภาพตำบล” เป็นเสมือนทัพหน้า
          นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ เล่าว่า สปสช.ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลในพื้นที่ทั่วประเทศถึง 7,776 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 99.68 ซึ่งครอบคลุมดูแลสุขภาพประชากร 56.66 ล้านคน
          “กองทุนสุขภาพตำบล จะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชากรในพื้นที่ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้อีกกลุ่มที่ไม่ควรมองข้ามและต้องให้การดูแลสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตคือผู้สูงอายุในชุมชน” นพ.ชูชัย กล่าวเน้นย้ำในตอนหนึ่ง พร้อมยกตัวอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลและเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ดำเนินการกองทุนสุขภาพตำบลได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเทศบาลตำบลแม่สะเรียงให้ความสำคัญกับการทำกองทุนเพื่อดูแล
          นพ.ชูชัย
          ผู้สูงอายุ ด้วยการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุเพื่อดูแลกันและกันในกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้กิจกรรมของผู้สูงอายุจะมีหลายแบบ เช่น การสนับสนุนให้ออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ การเชื่อมเทศกาลงานบุญกับการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
          ด้าน นางสายัณห์ สวาสดิ์ญาติ ประธานชมรมผู้สูงอายุชุมชนมงคลทอง ต.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน วัย 78 ปี เล่าถึงการตั้งชมรมว่า ไม่อยากให้ผู้สูงอายุเป็นภาระ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหากไม่มีคนดูแลก็จะได้รวมตัวดูแลกันและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงร่วมกันบำบัดจิตใจให้กันด้วย โดยทางชมรมได้รับงบประมาณจาก สปสช. เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เงินอุดหนุนรายหัวตั้งแต่ปี 2549 หรือกว่า 9 ปีมาแล้ว โดยจ่ายให้รายหัวละ 40 บาท และเปลี่ยนมาเป็น 45 บาทในปี 2555
          “ชมรมผู้สูงอายุมีสมาชิกประมาณ 70 คน จะมีการทำกิจกรรมสัปดาห์ละประมาณ 5 ครั้ง เช่น กิจกรรมการออกกำลังซึ่งมี 2 แบบ คือการใช้ไม้พลองและการเล่นโยคะ นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกัน อาทิ การทำวัตร ทำน้ำยาล้างจานและน้ำยาล้างผัก เป็นต้น การทำกิจกรรมต่างๆช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดีขึ้น” นางสายัณห์ สะท้อนภาพจากการปฏิบัติงานจริงของสมาชิกในชมรม
          นางสายัณห์
          นางสายัณห์ ยังเล่าด้วยว่า ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของผู้สูงอายุ คือ โรคปวดเข่า ปวดข้อ ซึ่งภายหลังตั้งชมรม ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง เพราะการออกกำลังกายต่างๆช่วยบำบัดได้ ทั้งยังช่วยลดความเครียดด้วย เพราะหากมีปัญหาอะไรสมาชิกในชมรมก็จะเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเท่ากับช่วยผ่อนคลายความกังวลในจิตใจ และลดความเครียดลงไป ส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย
          ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับการที่กองทุนสุขภาพตำบล มองเป้าหมายการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดย เฉพาะของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในภารกิจหลักลำดับต้นๆ
          เพราะสิ่งหนึ่งที่เราอยากฝากให้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะภาครัฐ รวมถึงหน่วยงาน และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก คือ แม้ผู้สูงอายุจะเปรียบตัวเองเป็นเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้คือ หากในอดีตไม่มีพวกเขาเหล่านี้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อกรุยทางและสั่งสมสิ่งที่ดีงามต่างๆไว้ให้ลูกหลานไทย ณ วันนี้และในอนาคตสังคมและประเทศไทยอาจจะไม่ได้สุขสบายกันเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
          “กตัญญูต่อพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์” ค่านิยมประการที่ 3 จาก 12 ประการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ประกาศเป็นนโยบาย พร้อมเชิญชวน และเรียกร้องให้คนไทยช่วยกันประพฤติปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นสิ่งดีงามกลับสู่วิถีชีวิตและสังคมไทย
          และนั่นน่าจะหมายรวมถึง การดูแลผู้สูงอายุด้วยความกตัญญู ต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องทำด้วยความจริงใจ
          เพราะความกตัญญูที่แท้จริง ต้องเกิดจากการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ใช่เพียงนโยบายหรือแค่การท่องจำ.
          ทีมข่าวสาธารณสุข
 pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved