Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 06/06/2561 ]
สธ.ชูนโยบายส่งเสริมให้พระสงฆ์สุขภาพดี ลดเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 1วัด1โรงพยาบาล

  กระทรวงสาธารณสุข เผยพระสงฆ์ไทยกว่าครึ่งมีภาวะอ้วนลงพุงเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต และข้อเข่าเสื่อม สาเหตุจากบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย แนะชาวพุทธทำบุญตักบาตรด้วยเมนูอาหารชูสุขภาพ พร้อมชูนโยบาย 1 วัด 1 โรงพยาบาล เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยการจัดกิจกรรม "1 วัด 1 โรงพยาบาล" กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศเลือกวัดเป้าหมายในพื้นที่เพื่อติดตามดูแลส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุสงฆ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องรวมทั้งขอให้พระสงฆ์ช่วยเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพไปสู่ประชาชน ผ่านการเทศนาธรรมเพื่อลดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่กำลังเป็นปัญหาของประชากรโลก
          "ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรม "1 วัด 1 โรงพยาบาล" ประกอบด้วย การจับคู่อุปถัมภ์วัดอย่างน้อยโรงพยาบาลละ 1 วัดและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยการถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ เช่น ภัตตาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ ชุดความรู้สำหรับพระสงฆ์ใช้ในการเทศนาแสดงธรรมแนะนำประชาชน การถวายธูป-เทียนไร้ควัน เพื่อลดมลพิษในวัด การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ การควบคุมสัตว์นำโรค การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สนับสนุนการจัดอบรมอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) และรณรงค์ให้ความรู้อาหารถวายพระ ใส่บาตรพระ ลด หวาน มัน เค็ม แก่ประชาชนที่รอรับบริการผู้ป่วยนอก (OPD)" นพ.เจษฎา กล่าว
          ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในประเทศไทย ครึ่งหนึ่งของพระสงฆ์มีภาวะอ้วนลงพุง จากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ มีรสชาติที่หวาน มัน เค็ม มากเกินไปและขาดกิจกรรมบริหารกาย โดยพบว่า 5 อันดับแรกของปัญหาสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของพระสงฆ์ คือ ไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตและข้อเข่าเสื่อม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการฉันภัตตาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันตามที่ญาติโยมนำมาถวาย ประกอบกับพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสถานภาพที่ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น
          สำหรับการดำเนินกิจกรรม "1 วัด 1 โรงพยาบาล" นั้น กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์ไทยได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและส่งเสริมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับพระสงฆ์ เริ่มจากอาหารขอแนะนำให้ทำบุญตักบาตรด้วย "ภัตตาหารชูสุขภาพ" เพราะพุทธศาสนิกชนทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ให้ดีขึ้นและช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
          โดย "ภัตตาหารชูสุขภาพ" ประกอบด้วยอย่างน้อย  5 หมู่ ได้แก่ ข้าวแป้ง เช่น ข้าวกล้อง เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกาย ผักต่าง ๆ เพื่อให้ได้ใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ผลไม้รสไม่หวาน เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล และมะละกอ นมจืด นมจากธัญพืชรสหวานน้อย เช่น นมถั่วเหลืองหวานน้อย
          ส่วนการปรุงประกอบอาหารที่นำมาถวายพระควรใช้วิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ ที่สำคัญรสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด ลดการถวายขนมหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เพราะมีน้ำตาลสูง ลดการถวายแกงกะทิ แนะนำเมนูชูสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ เช่น ลาบปลา ปลานึ่งผักลวก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร ส่วนเครื่องดื่มและน้ำปานะควรเป็นเครื่องดื่มที่น้ำตาลน้อย เช่น น้ำสมุนไพรแบบหวานน้อย หรือน้ำเปล่า นมจืดหรือนมถั่วเหลือง (ขึ้นกับธรรมวินัย) เลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟสำเร็จรูป น้ำหวาน น้ำอัดลม ชาสำเร็จรูปเนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูง และใน 1 วัน พระสงฆ์ไม่ควรฉันน้ำปานะเกิน 2 แก้ว หรือ 2 กล่องและไม่ควรฉันน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ถ้าเป็นอาหารกระป๋องต้องสังเกตเครื่องหมาย อย. ดูวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ สภาพกระป๋องต้องสมบูรณ์  ไม่บุบ เบี้ยว บวม ไม่มีสนิม ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเปิดหรือมีรอยรั่ว
          พญ.อัมพร กล่าวต่อไปว่า โดยขอแนะนำกิจกรรมบริหารกายที่เหมาะสมกับพระสงฆ์ไทย ได้แก่ 1. กิจกรรมบริหารกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม งานทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร กวาดลานวัด งานจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ งานก่อสร้าง งานสวน เป็นต้น 2. กิจกรรมบริหารกายแบบใช้แรงต้าน เช่น การดันฝาผนัง การนอนแล้วงอตัวขึ้น การย่อเข่าลุก-นั่งเก้าอี้ เป็นต้น และ 3. กิจกรรมบริหารกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น การก้มตัวใช้มือแตะปลายเท้า การยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวด้านข้างและบริเวณไหล่ เป็นต้น.

 pageview  1205111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved