Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 31/05/2561 ]
กรมวิทย์พัฒนาการตรวจดีเอ็นเอเห็ดพิษ พร้อมแนะปชช.วิธีสังเกตเห็ดพิษที่กินไม่ได้

  ทุก ๆ ปีในช่วงต้นฤดูฝนถึงต้น ฤดูหนาวหรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนจะมีข่าวการป่วยและเสียชีวิตของประชาชนจากการรับประทานเห็ดพิษออกมาเป็นระยะ ๆ และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามาประกอบอาหาร รวมทั้งการนำไปขาย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ซึ่งการเก็บเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้ รับอันตรายจากสารพิษ ดังนั้นการจะพิสูจน์ทราบว่าเป็นเห็ดชนิดใดหรือมีสารพิษชนิดใด ต้องอาศัยเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์สารพิษในเห็ดได้ 3 ชนิดได้แก่ alpha amanitin, beta amanitin และ muscarine และมีการตรวจยืนยันชนิดเห็ดโดยวิธีระบุลักษณะทางสัณฐานวิทยา นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการพิษวิทยายังได้พัฒนาวิธีการตรวจจำแนกชนิด (species) ของเห็ด โดยใช้ดีเอ็นเอ บาร์โค้ด ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของการเรียงตัวของลำดับนิวคลีโอไทด์ ทั้งเห็ดพิษและเห็ดกินได้ เนื่องจากให้ผลวิเคราะห์ที่มีความจำเพาะ (specificity) และความไว (sensitivity) สูง อีกทั้งยังช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีราย งานการพบในประเทศไทย ทำให้มีฐานข้อมูลของดีเอ็นเอ บาร์โค้ด สำหรับเห็ดพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์ของประเทศไทย เพื่อ ใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสายพันธุ์เห็ดพิษในกรณีเกิดการระบาดจากเห็ดพิษ ปัจจุบันได้ข้อมูลดีเอ็นเอ บาร์โค้ด มากกว่า 200 ฐานข้อมูล และเมื่อฐานข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้น จะสามารถจัดตั้งฐานข้อมูลอ้างอิงในระดับพันธุกรรมโมเลกุล (DNA barcode reference) ของเห็ดพิษต่อไป
          นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประเมินสถานการณ์การเกิดพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในประเทศไทย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2560  อุบัติการณ์ดังกล่าวพบมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เห็ดพิษมีหลายชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรงถึงตาย เช่น เห็ดระโงกหิน ซึ่งปริมาณสารพิษที่สามารถทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโล กรัม เทียบเท่า กับการรับประทาน เห็ดสดประมาณครึ่งดอก จัดว่าเป็นสารพิษใน เห็ดร้ายแรงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นการต้ม ทอด ย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากความร้อนไม่สามารถทำลายสารพิษได้ เห็ดบางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดบางชนิดรับประทานเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอนคล้ายยาเสพติด เช่น เห็ดขี้วัว นอกจากนี้ยังมีเห็ดบางชนิดที่โดยปกติตัวเห็ดเองไม่มีพิษ แต่อาการพิษจะปรากฏเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24-72 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังรับประทานเห็ดชนิดนั้น จะมีอาการหน้าแดง ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและหายใจลำบาก หัวใจเต้นแรง เห็ดที่พบสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เห็ดน้ำหมึก เป็นต้น
          "สำหรับความเชื่อโดยใช้ความรู้พื้นบ้านที่บอกต่อกันในการทดสอบเห็ดพิษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การนำข้าวสารมาต้มกับเห็ดถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุก ๆ ดิบ ๆ หรือการสังเกตดอกเห็ดที่มีรอยแมลงหรือสัตว์กัดกินจะเป็นเห็ดไม่มีพิษนั้น วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถให้ผลถูกต้องทั้งหมด จึงไม่ควรนำมาปฏิบัติ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้หากรับประทานเห็ดมีพิษเข้าไปวิธีการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่าน (activated charcoal) หรือน้ำเกลือ 2 แก้ว แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าสู่ร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่าง เห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหารที่รับประทานไปด้วย เพื่อส่งตรวจพิสูจน์สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำ "คู่มือเห็ดพิษ" เพื่อแจกจ่ายให้ฟรี แก่โรงเรียนต่าง ๆ ที่มีเด็กนักเรียน โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งประชาชนทั่วไป เพื่อใช้ประโยชน์ในการเลือกบริโภคเห็ดได้อย่างปลอดภัย โดยภายใน เล่มจะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดพิษและที่เป็นอันตรายที่พบได้บ่อย คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี และที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ" นายแพทย์สุขุมกล่าว
          ด้านน.ส.เกษร บุญยรักษ์โยธิน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน หลังฝนตกใหม่ ๆชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บเห็ดมาขาย ทำให้มีเห็ดจากป่าออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก และตลาดก็เป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อเห็ดป่าไปบริโภคโดยจะซื้อขายกันในราคากิโลกรัมละ 400-600 บาท วันหนึ่ง ๆ สามารถสร้างรายได้จากการขายเห็ดป่าได้มากกว่า 2,000 บาท ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานีซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคจึงออกมาให้ความรู้ประชาชน ถึงวิธีการเลือกซื้อเห็ดเพื่อนำไปบริโภคอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำแก่พ่อค้า แม่ค้า ในการแนะนำผู้บริโภคให้รู้ถึงวิธีการเลือกซื้อเห็ดที่ไม่มีพิษ นอกจากนี้ยังแนะนำว่าอย่าเชื่อผิด ๆเกี่ยวกับการทดสอบเห็ดด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง เช่น การใช้ช้อนเงินคนเวลานำเห็ดมาทำอาหาร การนำข้าวไปต้มกับแกงเห็ด ใช้ปูนกินหมากป้ายดอกเห็ด ใส่หัวหอมลงในหม้อต้มเห็ด เลือกเห็ดที่มีรอยกัดแทะของแมลง หรือดูสีเห็ดหากมีสีสวยงามเป็นเห็ดพิษ ส่วนเห็ดสีขาวกินได้เหล่านี้ถือเป็นความเข้าใจผิดที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะวิธีการที่กล่าวมาไม่ถูกต้องทั้งหมด
          น.ส.ณิชนันท์ พุทธเสน นักท่องเที่ยวผู้ซื้อเห็ดที่ตลาดห้วยเดื่อ จ.หนองบัวลำภู บอกว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่นิยมบริโภคเห็ด ช่วงหลังฝนตกใหม่ ๆ มักจะเดินทางท่องเที่ยวไปตามตลาดที่มีการจำหน่ายของป่าเพื่อหาซื้อเห็ดป่ามาประกอบอาหารรับประทาน วิธีเลือกซื้อเห็ดของตนเองจะสังเกตที่ขอบหมวกของเห็ดถ้าพบเป็นริ้ว ๆ และถ้าหักก้านดูพบว่าก้านกลวงเป็นเห็ดที่กินได้
          คุณยายสาย ชินโซ แม่ค้าเห็ดที่ตลาดห้วยเดื่อ จ.หนองบัวลำภู บอกว่าตนจะคัดเห็ดที่มีพิษและกินไม่ได้ออกทุกครั้งก่อนจะนำเห็ดป่ามาขายให้กับลูกค้า จะใช้วิธีการดูเห็ดพิษจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยดูลักษณะของเห็ด ที่พบหากมีผิวหมวกเห็ดไม่เรียบ ขรุขระ และถ้าใช้มีดผ่าดูด้านในดอกเห็ดมีลักษณะแข็ง ตัน ไม่เรียบ ไม่นุ่ม ก้านตันตลอดแนว แสดงว่าเป็นเห็ดพิษกินไม่ได้ ส่วนเห็ดที่สามารถนำมากินได้ จะมีลักษณะผิวเรียบ มันวาว กดผิวของเห็ด จะนุ่มจะไม่แข็งและมีลักษณะยืดหยุ่น ก้านเห็ดจะกลวงตลอดแนวซึ่งแตกต่างจากเห็ดพิษ.

 pageview  1205104    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved