Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 03/02/2555 ]
เหยื่อน้ำท่วมโวยได้88บ.
          สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฮึ่มฟ้องรัฐ คัดค้านสร้างเขื่อน-พนัง กันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม อัดเอาใจนักลงทุน ไม่สนใจบ้านเรือนราษฎรรอบข้าง ย้ำต้องหามาตรการป้องกันที่ชัดเจน ก่อนดำเนินการ ชาวผักไห่เมืองกรุงเก่าสุดช้ำ ได้เงินน้ำท่วมเยียวยา 88 บาท "ยิ่งลักษณ์" กำชับเร่งขุดลอกคูคลอง เตรียมลงพื้นที่ต่างจังหวัด ดูข้อเท็จจริงเผื่อปรับแผน กยน.
          ผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ จ.เชียงใหม่ นายชาตรี เชื้อมโนชาญ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงกาวิละ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบเงินช่วยเหลือรอบ 2 ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่แขวงกาวิละ บริเวณที่ทำการสมาคมฮากกา ถนนช้างคลาน ต.ช้างคลาน มีผู้เดินทางมารับเงินชดเชย 20 ชุมชน ใช้งบประมาณกว่า 21 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่หน้า อบต.บ้านแค อ.ผักไห่ ได้มีกลุ่มผู้ประท้วงราว 100 คน นำโดยนางสุมาลี เชื้อทองถม หัวหน้ากลุ่มสตรีในตำบล รวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีเงินช่วยเหลือค่าซ่อมแซมบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะมีผู้ประสบภัยได้รับเงินชดเชยบางรายเพียง 88 บาท เบื้องต้น นายปัญญา ฤทธิญาติ ปลัดอาวุโสได้มารับเรื่องร้องเรียน และจะให้ทาง อบต.ฯ ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง
          วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ตนจะลงพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อดูการแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการน้ำ โดยจะไล่ดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พร้อมนำแผนของกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ตรวจสอบกับพื้นที่แต่ละจังหวัด เผื่อว่าจะต้องมีการปรับอะไรเพิ่มเติม ส่วนการขุดลอกคูคลองได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม จะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้เข้ามาช่วยในการขุดคลองด้วย
          ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 เรื่องคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรป้องกันน้ำท่วม ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ทำการสนับสนุนให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสุด 0.01% เป็นเวลากว่า 10 ปี วงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายในพื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางน้ำผ่าน กู้ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรขึ้นล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรม  ที่ถูกน้ำท่วมหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า มาร่วมกันวางแผนให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
          นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ขอคัดค้านนโยบายและการดำเนินการดังกล่าว เพราะข้อเสนอของรัฐบาลและเอกชน ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานใดเลยที่จะออกมาพูดถึงผลลบหรือผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะทางออก หรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพราะการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรอาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง และสร้างความเสียหายให้พื้นที่หลายแห่งโดยรอบที่อยู่ใกล้เคียง รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ปัญหาโดยมีมุมมองเพียงด้านเดียวในการบริหารจัดการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ขาดบริบทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หากรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจนออกมาก่อน ดื้อดึงไม่สนใจคำทักท้วง ยังเดินหน้าสนับสนุนการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรต่อไป สมาคมฯและชาวบ้าน ชาวชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม คงต้องพึ่งอำนาจศาลในการหาข้อยุติต่อไป
          ด้านนายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวภายหลังนายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะตรวจเยี่ยมสำนักงาน กปน. กรณีประชาชนร้องเรียนว่าถูกเรียกเก็บค่าน้ำประปาแพงเกินจริงในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า กปน.ใส่ใจเรื่องให้บริการและเยียวยาผู้ใช้น้ำที่ประสบภัย โดยงดเก็บค่าน้ำขั้นต่ำเป็นเวลา 6 เดือน และใช้น้ำประปาฟรีสำหรับล้างบ้าน 5,000 ลิตร ในรอบใบเสร็จเดือน ม.ค. และขยายระยะเวลาชำระค่าน้ำกว่า 8 แสนรายจนถึงเดือน ก.พ.ด้วย
          ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ นายวิทยา บุรณศิริ  รมว.สาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษ "รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ" ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ว่า ถือเป็นเวทีสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันเพื่อช่วยกันวางแนวทางในการแก้ไขปัญหามหาอุทกภัย ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง รวมไปถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะวาตภัย โคลนถล่ม ทั้งนี้หลังจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายต่าง ๆ เข้าดำเนินการแล้วก็ตาม เวทีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลย่อมมีส่วนในการเข้าไปดูแล โดยเฉพาะการจัดเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉิน ทั้งในส่วนสถานพยาบาล ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมไปถึงการส่งต่อผู้ป่วย โดยดูจากปัญหาที่ผ่านมา ได้สั่งการไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ในเรื่องนี้แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้ขาดแคลน
          ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) พร้อมภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า 200 องค์กรทั่วประเทศ ร่วมเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 โดยเสวนาในหัวข้อ "ศาสตร์พระราชากับการกู้วิกฤติชาติ" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีศาสตร์ในหลักคิดคือ การที่ทรงเห็นปัญหาจนเกิดเป็นองค์ความรู้ ระบบราชการเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อให้หมดงบประมาณไปเท่านั้น แต่ไม่ค่อยน้อมนำกระแสพระราชดำริของในหลวงมาขับเคลื่อน ทั้งนี้หลักคิดหลักทำของในหลวงมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบขั้นตอน ซึ่งไม่ได้ยากแต่รัฐบาลไม่คิดที่จะทำ มีทั้งหมดเพียง 3 ข้อด้วยกัน คือ 1.การสู้ภัย โดยเมื่อน้ำมาเราต้องเร่งนำน้ำออกทะเลอย่างเร็วที่สุด แต่ขณะนี้รัฐบาลมีแต่แผนแต่ไม่ทำ 2.การปรับตัวให้อยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติได้ 3.การหนี หากน้ำป่าไหลหลากมาก็ต้องหนี ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้สามารถทำได้จริง  รัฐบาลต้องบอกความจริงกับประชาชนว่าในปี 55-56-57 ยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ เพราะเป็นพื้นที่แบนราบ รัฐบาลยังไม่มีเครื่องมือนำน้ำออกทะเล ตรงนี้หัวใจ ยอมรับกันหรือยัง แล้วมานั่งทบทวนวางแผนบริหารวิกฤติตั้งแต่ตอนนี้ หากยังไม่ทำ ตนยืนยันว่าเอาไม่อยู่แน่
          ด้านนายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการ กยน. เปิดเผยว่า ถ้าปีนี้บริหารไม่เป็นเกิดน้ำท่วมแน่นอน ประเทศไทยแย่แน่ ไม่มีใครมาตั้งโรงงาน เพราะทุกจังหวัดกั้นเขื่อนไม่ให้เข้าพื้นที่ตัวเอง กั้นตั้งแต่ จ.สุโขทัย ไล่ลงมาถึงพระนครศรีอยุธายา ปทุมธานี นนทบุรี แทนที่น้ำระบายไปตามทุ่ง เป็นการทำทางน้ำวิ่งจากเขื่อนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯเลย ที่ผ่านมาถ้าตนไม่พูดเขื่อนจะระบายน้ำออกไหม ตอนนี้ยังท่วมค้างทุ่งกันอยู่ภาคกลางหลายจังหวัด ชาวนาทำนาไม่ได้ ทำไมไม่พูดใน กยน. บ้าง ตนพูดก็มีคนแขวะว่าไม่รักชาติ ขออย่าเอาตัวเองเป็นหลัก ที่สำคัญ นามสกุลตนเป็นนามสกุลพระราชทาน
 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved