Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 25/01/2561 ]
อึ้ง ฝุ่น เกินแพทย์ห่วง!คนกรุงป่วยกทม.สั่งงัด13กฎเหล็กแก้ไขปัญหา

 เผย "กรุงเทพฯปริมณฑล" ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานทุกพื้นที่ หลังเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศนิ่ง ด้าน กทม.สั่ง 50 เขตคุม เข้ม 13มาตรการแก้ปัญหา ขณะที่ สธ.แนะคนมีโรคประจำตัวกลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด ปอด ทางเดินหายใจ รวมทั้งเด็กเล็ก ควรงดกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ควรไปที่โล่งแจ้ง ส่วน กรมอุตุฯ ระบุอากาศแปรปรวนในไทยฝนตกหลายพื้นที่ เหตุจากลมตะวันออกพัดเอาความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามา ชี้ไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักบางพื้นที่
          เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 ม.ค. ปรากฏว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในช่วง 54-85  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ เพราะค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. โดยปริมาณฝุ่นละอองสูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี และ จ.สมุทรปราการ 59-71 มคก./ลบ.ม. ส่วน จ.สมุทรสาคร อยู่ที่ 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 10 นั้นยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ 120 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นมาจากการจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้
          นางสุณี กล่าวต่อว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ข้อเท็จจริง หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นไปได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้
          ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กทม.ได้มีบันทึกสั่งการ เรื่อง การแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานทุกเขตดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2555 โดยทางเขตจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ 13 ข้อ อาทิ บริเวณก่อสร้างจะต้องจัดทำรั้วทึบสูง 2 เมตร ต้องมีการป้องกันหรือวัสดุป้องกันจากฝุ่นละออง บริษัทผู้รับเหมาต้องทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกชั้น ห้ามก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 น. รถเข้าออกระหว่างบริเวณก่อสร้างต้องมีวัสดุปกคลุมมิดชิดและล้างล้อรถยนต์ บริเวณก่อสร้างต้องทำความสะอาดทุกวัน ทั้งนี้ยอมรับว่าในช่วงหลังเจ้าหน้าที่ กทม.ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งการอย่างเคร่งครัดพอ เพราะโดยปกติจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนเป็นต้นไป แต่ปัจจุบันได้กำชับให้ทุกเขตดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ให้อำนาจสำนักงานเขตเข้าระงับ กำชับ เจ้าของโครงการก่อสร้าง หากมีผลกระทบก่อให้เกิดฝุ่นละออง และมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
          นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า เมื่อปี 57 ได้ให้งบประมาณ 395 ล้านบาท เพื่อให้สำนัก สิ่งแวดล้อมติดตั้งจุดตรวจอากาศ ลักษณะของเสาเหล็ก 46 ชุด และรถตรวจอากาศ 4 คัน เมื่อปี 59 กับปี 61 นี้ ได้จัดสรรงบประมาณ 24.5 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเหมาและค่าบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเสาเหล็ก หลังได้ผู้รับจ้างแล้วมีหน้าที่รายงานผลให้กทม.ทราบ เพื่อนำข้อมูลแจ้งประชาชนทั่วไปทราบผ่านเว็บไซต์เพิ่มเติม เพื่อให้ระมัดระวัง ขณะเดียวกันสำนักสิ่งแวดล้อม ต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจควันดำต้องประสานกับตำรวจ บก.จร. เพื่อดำเนินการ พ.ร.บ.จราจร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก รวมถึงประสานงานกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและฝ่ายเทศกิจของแต่ละเขตให้ร่วมกันกำหนดวันตรวจควันดำ ซึ่งพบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ค่าเฉลี่ย PM2.5 และ PM10 มีค่าเฉลี่ยเกินมาตรฐานจริง ส่วนการล้างทำความสะอาด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายให้ทุกเขตจัดวันทำความสะอาดใหญ่ หรือ บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ให้ครบทุกเขต เริ่มตั้งแต่ปี 60 และจะทยอยดำเนินการต่อไปให้ครบ
          ขณะที่ นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคติดตามข้อมูลเรื่องดังกล่าว และสรุปรายงานต่อผู้บริหาร เบื้องต้นที่ตรวจสอบวันที่ 24 ม.ค. มี 1 เขต คือเขตบางขุนเทียน ที่มีค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 135 มคก./ลบ.ม.ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดไว้ที่ 120 มคก./ลบ.ม. ถือว่าเกินมาไม่มาก แนะนำคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด ปอด กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เด็กเล็กขอให้อยู่ในบ้าน ไม่ควรไปที่โล่งแจ้ง เพราะมีโอกาสที่อาจจะทำให้โรครุนแรงขึ้นได้ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ขอให้ติดตามข้อมูลปริมาณฝุ่น อาจจะต้องระวังการทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง หากจะสวมหน้ากากอนามัยก็ได้ แต่ไม่อยากให้ตกใจมาก ซึ่งต้องเรียนว่าเรื่องค่าฝุ่นละอองต่าง ๆ นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละวันแตกต่างกันไป
          วันเดียวกัน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนในประเทศไทยตอนบนที่เกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากลมตะวันออกพัดเอาความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาสู่ภาคกลางและภาคตะวันออก ขณะที่มีอากาศเย็นปกคลุมในระดับสูง ทำให้เกิดหมอกและเมฆฝนปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 14.00 น. กรมอุตุฯ จะจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับอากาศแปรปรวนในประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักในภาคใต้อีกครั้ง
          ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในวันที่ 29-30 ม.ค. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 24-25 ม.ค. มีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ประเทศ ไทยตอนบนเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ส่วนเกษตรกรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ระมัดระวังความเสียหายที่อาจเกิดกับผลผลิตเนื่องจากฝนตกไว้ด้วย.

 pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved