Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 28/12/2560 ]
เตือนใจ...ซึมเศร้า-ป่วย ต้องรักษา แพทย์-ยา-บำบัด ชุบชีวิตปกติ

 "โรคซึมเศร้า" ปรากฏเป็นข่าวพร้อมความสูญเสียให้เห็นอย่างต่อเนื่องจากการตัดสินใจ"ฆ่าตัวตาย"เช่นก่อนหน้านี้มีข่าวการฆ่าตัวตาย3 เหตุการณ์ที่มีแนวโน้มภาวะโรคซึมเศร้าเข้าไปเกี่ยวข้องคือ กรณีของ น.ส.นันท์นภัส เมืองมา นางแบบอิสระ วัย 19 ปี ใช้วิธีแขวนคอตัวเอง ตรวจสอบข้อความสุดท้ายโพสต์ในทำนองตัดพ้อ ไม่มีความสุข เคยคิดจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่ไม่มีใครรู้ ต้องพึ่งยาจิตเวชแต่ขาดยา 2 วันแล้ว
          กรณีข่าวนักร้องดังเกาหลี "คิมจงฮยอน" วงชายนี่ วัย 27 ปี ฆ่าตัวตายโดยการจุดถ่านหินรมควันภายในห้องพัก ซึ่งต่อมาครอบครัวออกมาเปิดเผยจดหมายลาจากเจ้าตัว ที่ยอมรับว่าโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุที่ตัดสินใจจบชีวิตที่เหลืออยู่อย่างกะทันหัน
          และที่เพิ่งเกิดขึ้นกับกรณี พ.ต.ต. สหัสวรรษ พันธ์เกตุ สว.ฝ่ายแต่งตั้ง กองทะเบียนพล ใช้ปืนพกปลิดชีพตัวเองภายในห้องทำงาน อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบหลักฐานเป็นกระดาษเขียนด้วยลายมือ ใจความระบุ ขออโหสิกรรมให้ด้วยครับ เพราะความซึมเศร้าจนเกินไป
          ผลกระทบจากข่าวอาการซึมเศร้านำไปสู่การจบชีวิตที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้อาการซึมเศร้าถูกนำมาพูดถึงกันมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเพื่อให้สังคมรู้จักกับภาวะซึมเศร้าว่าเป็นอาการของ "โรค" อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดมีโอกาสเฝ้าระวังและลดโอกาสสูญเสียคนที่รัก
          ข้อมูลที่เผยแพร่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า มีการให้ความรู้และความเห็นจากแพทย์ไว้หลายคน เนื่องจากเป็นอีกโรคที่พูดถึงกันมานาน สามารถพบเห็นได้ทุกเพศ ทุกวัย และที่สำคัญคือสามารถนำไปสู่การเลือกจบชีวิตของตัวเอง นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่อาจเรียกคืน ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้าว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ปัจจัยทางชีวภาพ ซึ่งอาจมาจากพันธุกรรม หรือโรคบางอย่างทางกาย อีก ปัจจัยคือด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนเครียดสูง มองโลกแง่ร้าย หรือความเครียดที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เจอเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง ความผิดหวัง สูญเสียคนรัก การหย่าร้าง ตกงาน ความเครียดจากครอบครัว
          นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงโรคซึมเศร้าว่าอันดับแรกต้องสร้างความเข้าใจว่าโรคนี้พบได้บ่อย แต่มักถูกมองว่าเป็นแค่การคิดมากไปเอง ไม่เข้าใจว่าคนเหล่านี้คือคนป่วยทำให้ไม่มีการรักษา เพราะไม่รู้ตัวเองขณะที่คนรอบข้างก็ไม่รู้ มารู้อีกทีก็ฆ่าตัวตายแล้ว ดังนั้น ทั้งตัวคนป่วยและคนใกล้ชิดต้องเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่อาการคิดมาก แต่เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการมีภาวะซึมเศร้าที่ต่อเนื่องกันมากกว่า 2 สัปดาห์ อาการนี้จะแสดงออกมี 4 แบบคือ 1. ด้านอารมณ์ เบื่อ เศร้า ท้อแท้ 2.ด้านความคิด ดูถูกตัวเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ 3.ด้านทางกาย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ เชื่องช้า และ4.ด้านสังคม เริ่มเก็บตัว ไม่สุงสิง ดูหนังดูละครไม่สนุก ในจำนวนนี้หากมีอาการ 3 ใน 4 แบบ ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว
          ทั้งนี้ จากข่าวคราวที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมาปัญหาใหญ่คือการไม่คิดว่าเป็นโรค คิดว่าแค่การคิดมาก ประเด็นดังกล่าวหากแก้ไม่ตรงจุดก็ไม่นำไปสู่การรักษา ในกรณีเดียวกันโรคซึมเศร้าหากเข้าใจและรับรู้ได้ว่าตัวเองป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ หรือหากคนใกล้ชิดไม่ใช่แค่การแนะนำให้พบแพทย์แต่ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง ที่ต้องใช้คำว่าพาไป เพราะบางครั้งตัวผู้ป่วยเองอาจไม่มีกำลังพอที่จะไปด้วยตัวเอง เมื่อพบแพทย์แล้วจะมีการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกต้อง
          โดยการรักษามี 2 แนวทางคือ การให้ยาเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เศร้า เนื่องจากสมองที่ทำงานเรื่องอารมณ์จะทำงานผิดปกติในโรคซึมเศร้า อีกแนวทางคือการใช้จิตบำบัด แต่หากจะให้ได้ผลดีที่สุดควรต้องรับการรักษาทั้งสองแบบควบคู่กัน ซึ่งจิตบำบัดสำหรับประเทศไทยมีผู้รับการบำบัดที่ได้ผลมากคือสติบำบัดทางด้านความคิดและพฤติกรรม ขณะนี้กรมสุขภาพจิตเองมีการอบรมผู้บำบัดในส่วนนี้ไว้มากพอสมควรทั้งในระบบกระทรวงและรพ.จิตเวช
          คนเหล่านี้หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ดีจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่ปกติได้...
          นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ระดับของโรคซึมเศร้าจะแบ่งตามความรุนแรง กลุ่มที่คิดฆ่าตัวตายถือว่ามีระดับความรุนแรงสูง การรักษาอาจจำเป็นต้องรับตัวไว้ในรพ.เพื่อควบคุมอาการให้ได้โดยเร็ว ทั้งควบคุมสิ่งแวดล้อมและควบคุมไม่ให้ทำร้ายตัวเอง หากถามถึงปัจจัยที่อาจทำให้ฉุกคิดก่อนที่จะทำร้ายตัวเองมีหรือไม่ ต้องชี้แจงว่ายังมีซึ่งสิ่งนี้เป็นที่มาของการมีสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 พร้อมให้คำปรึกษาและพูดคุยกับผู้ป่วย หรือคนในครอบครัวที่อาจให้ความช่วยเหลือ เรื่องนี้จะเห็นว่ามีทั้งระบบของสังคมคือคนใกล้ชิด และระบบบริการคือการรับคำปรึกษาจากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งจะให้คำแนะนำคนป่วยได้
          "ความคิดที่จะฆ่าตัวตายเป็นเรื่องสองจิตสองใจ ดังนั้น ในช่วงดังกล่าวอาจมีความคิดส่วนหนึ่งที่ดึงเอาไว้ได้ หากได้มีคนปรึกษาหารือ มีคนในครอบครัวที่อาจช่วยไว้ได้ หรืออีกด้านคือผู้ที่ใช้วิชาชีพอย่างสายด่วนกรมสุขภาพจิตที่จะผ่านการฝึกว่าหากเป็นคนป่วยที่มีความคิดจะฆ่าตัวตาย ควรต้องพูดแบบใดจึงจะไม่ทำร้ายตัวเอง"
          นพ.ยงยุทธ ย้ำว่าโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ แต่ต้องเป็นการรักษาที่มีคุณภาพซึ่งจะทำให้มีโอกาสป่วยซ้ำได้น้อย ปัจจุบันระบบบริการโรคซึมเศร้าของประเทศไทยจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการมากกว่า 60% ของผู้ป่วยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของคุณภาพเป็นอีกส่วนที่ต้องค่อย ๆ ปรับ เนื่องจากคนป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการรักษาด้วยการรับยาอย่างเดียว ทั้งที่การรักษาที่ดีคือการรับยาควบคู่กับจิตบำบัด ทั้งนี้ โดยปกติการรักษาโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือน แพทย์จึงจะพิจารณาว่าจะหยุดยาหรือต้องให้ยาต่อเนื่อง เพราะหากมีแนวโน้มกลับมาเป็นซ้ำแพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาไปอีก แต่หากมีลักษณะกลับมาดูแลตัวเองได้เร็วแพทย์ก็อาจสั่งยาแค่ 6 เดือนแล้วเฝ้าติดตามอาการห่าง ๆ เท่านั้น
          สำหรับสังคมและประชาชนที่อาจช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องรู้ว่าเป็นโรคที่รักษาได้อย่าคิดว่าเป็นโรคคิดมาก และขอให้ยึดหลัก "3 ส" คือ "สอดส่อง" มองหา เพื่อนำไปสู่การ "ใส่ใจ" รับฟังว่าคนคนนั้นต้องการความช่วยเหลือ มีอาการเศร้าเกิน 2 สัปดาห์ บ่นท้อแท้ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ การใส่ใจรับฟังทำให้รู้ว่ามีความเสี่ยงสูง จากนั้นจึง "ส่งต่อ" เชื่อมโยง ซึ่งอย่าทำเพียงการให้คำแนะนำแต่ควรพาคนป่วยไปพบแพทย์จะได้มีโอกาสรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง
          จากข้อมูลกรมสุขภาพจิตขณะนี้มีคนไทยราว 1.5 ล้านคน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุและวัยรุ่น โรคนี้สังเกตไม่ได้จากบาดแผลภายนอก  ความเอาใจใส่และคอยสังเกตจากคนใกล้ชิดจึงเป็นโอกาสสำคัญในการรักษาก่อนสายเกินไป.

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved