Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/12/2560 ]
กรมควบคุมโรคเดินหน้าจัดอบรมวิธีป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

  โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อมาจากการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถพบได้ร้อยละ 5-10 ในโรงพยาบาลทุกระดับ แต่ละปีมีรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อระหว่างเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจพบในผู้ป่วยที่ได้รับการสอดใส่ท่อช่วยหายใจ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่พบในผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะนาน ๆ โรคติดเชื้อทางเดินอาหารพบในผู้ป่วยที่ได้รับการใส่ท่อเข้าไปในหลอดอาหาร หรือการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีบาดแผลไม่ว่าก่อนมารับการรักษาหรือแผลที่เกิดจากกระบวนการรักษา เช่น แผลผ่าตัด ซึ่งจะเป็นช่องทางทำให้เกิดการติดเชื้อได้
          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคโดยสถาบันบำราศนราดูรได้จัดการอบรมเรื่อง "การป้องกันและควบคุม โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล" แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และเทคนิคการแพทย์ ทั่วประเทศ รวม 210 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ และทักษะด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ลดภาวะเสี่ยงของผู้ป่วยและบุคลากรจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล  เกิดการพัฒนางานวิชาการและการปฏิบัติการรักษาดูแลด้านโรคติดเชื้อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน เป็นการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อตามหลักสากล เรียกว่า Universal precautions ซึ่ง เป็นกระบวนการป้องกันการติดเชื้อจากการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ทุกคนปลอดภัยจากการติดเชื้อที่อาจติดต่อทางเลือดและสารน้ำจากร่างกาย ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
          อธิบดีกรมควบคุมโรคยังกล่าวอีกว่าการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลต้องอาศัยทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้มารับบริการซึ่งก็คือทั้งผู้ป่วยและญาติ ส่วนผู้ให้บริการต้องอาศัยตั้งแต่ระดับผู้บริหารคือผู้อำนวยการลงมาจนถึงระดับพนักงานทำความสะอาด  จะต้องร่วมมือ เข้าใจ มีความรู้และทักษะที่จะให้การรักษาที่ดี มีการปฏิบัติงานที่ดีและมีความเป็นเลิศจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้  ขณะเดียวกันพี่น้องประชาชน ทั้งผู้ป่วยและญาติต้องปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาและให้ความร่วมมือในการรับบริการตามเทคนิคของการปลอดเชื้อหรือปราศจากเชื้อ  สำหรับผู้ที่อยู่นอกโรงพยาบาลควรใช้ยาให้เหมาะสม และเมื่อป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาที่อยู่นอกโรงพยาบาล และเวลาที่เจ็บป่วยก็นำเข้าสู่โรงพยาบาลและแพร่เชื้อสู่คนอื่น เป็นการใช้ยาเกินจำเป็นนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้การรักษายากมากขึ้น หากเป็นอีกการใช้ยาต้องใช้ในขนาดที่สูงขึ้น  ค่ายาแพง ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น โรคติดเชื้อบางประเภทมี ค่ารักษากรณีดื้อยาสูงมาก ๆ เช่น วัณโรคดื้อ ยา ซึ่งค่าใช้จ่ายหลายล้านบาทและอาจนำไปสู่ภาวะโรคแทรกซ้อนจนกระทั่งเสียชีวิตได้
          "การที่จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ ทุกคนต้องเข้าใจเรื่องเทคนิคป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล  ลดจำนวนการนอนในโรงพยาบาล ลดการสอดใส่เครื่องมือแพทย์ที่ไม่เหมาะสม  ลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมโดยไม่จำเป็น  ทั้งหมดนี้จะช่วยลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล" นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวปิดท้าย.

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved