Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 01/11/2560 ]
ลดเค็ม ลดโรค อาหารถวายพระต้องลดเค็มด้วย

  การบริโภคเกลือและโซเดียมในระดับสูง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 78,976 ล้านบาท จากโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือสูญเสียงบประมาณในการรักษาโรคเบาหวานกว่า 24,489 ล้านบาท และสูญเสียงบประมาณจากโรคไตวายระยะสุดท้ายกว่า 15,000 ล้านบาท
          ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า "ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยยา ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องใช้งบประมาณในการล้างไตเป็นการเฉพาะ แยกจากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยในปีงบประมาณ 2558 สูงถึง 5,247 ล้านบาท และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,318 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2559 ซึ่งถ้ารวมงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสิทธิอื่น ๆ ได้แก่ สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการแล้ว รัฐจำเป็นต้องใช้งบสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี"
          ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเพิ่มขึ้นอย่างมาก และพบว่าการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังคิดเป็น 50% ซึ่งสูงกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า
          มีการสำรวจพบ คนไทยได้รับเกลือเฉลี่ยจากการรับประทานอาหาร 10.8 กรัมต่อวันต่อคน คิด เป็นปริมาณเกลือโซเดียมที่ได้มากถึง 4,351.69 มิลลิกรัม ต่อวัน ต่อคน
          แสดงให้เห็นว่าคนไทยได้รับเกลือในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน เกือบ 2 เท่าโดย 8 กรัมของเกลือนั้นมาจากเครื่องปรุงรส ส่วนอีก 2 กรัมของเกลือมาจากแหล่งธรรมชาติ และ 0.8 กรัมของเกลือมาจากอาหารข้างทาง/หาบเร่/อาหารกินเล่น
          การที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นอก จากนั้นยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา (Left ventricular hypertrophy)
          และเกิดการสะสมของพัง ผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือด และยังมีผลกระทบโดยตรงต่อไต ซึ่งไตเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่กำจัดโซเดียม โดยทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นจากการทำงานหนักและโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และความเสื่อมนั้นจะคงอยู่ตลอดไปแม้จะมีการลดปริมาณโซเดียมลงในภายหลัง ซึ่งล้วนแต่มีสาเหตุจากการได้รับเกลือและโซเดียมปริมาณสูง
          นอกจากจะใส่ใจอาหารการกินของตัวเองแล้ว การลดการบริโภคเค็มจะต้องครอบคลุมไปถึงพระสงฆ์ด้วย พุทธศาสนิกชนควรหันมาใส่ใจในการถวายอาหารให้พระสงฆ์ด้วยเช่นกัน เวลาจะทำบุญตักบาตร ให้ระมัดระวังเรื่องการใส่บาตรพระ โดยเฉพาะอาหารที่จัดถวาย ควรเป็นอาหารที่ปรุงรสให้พอดี ไม่เค็มจัดหรือหวานจัดจนเกินไป
          อาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและเป็นอาหารที่นิยมถวายแด่พระสงฆ์ เช่น พวกอาหารแห้ง ประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำต่าง ๆ หรือรสหมูสับ อาหารจำพวกแหนม ปลากระป๋อง ส่วนอาหารที่นิยมบริโภคแบบเป็นประจำ ก็จะเป็นแกงเขียวหวาน ไข่พะโล้ พวกผัดต่าง ๆ พวกนี้จะมีความเค็มสูงต้องระมัดระวัง
          หากจะถวายอาหารให้พระสงฆ์ ควรจะถวายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าเป็นไปได้ควรทำเอง หรือไม่ก็บอกแม่ค้าว่าอาหารของพระสงฆ์ควรจะมีรสชาติอ่อน ๆ หรือกำลังพอดี ๆ และไม่หวานไม่เค็มไม่มันจนเกินไปถือว่าให้พระสงฆ์ได้ฉันอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหวานมันเค็มน้อย ถ้าหากเราถวายอาหารที่มีความเค็ม จัดหวานจัดโดยที่เรารู้เท่า ไม่ถึงการณ์ จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของ พระสงฆ์ได้
          "ขอย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายให้ทุกภาค ส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือโซเดียมแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 2 ด้าน คือ การบริโภคที่เหมาะสมและการออกกำลังกายที่เพียงพอ ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ของการพัฒนาว่าจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืน และเป็นสุข บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ กล่าวสรุป.

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved