Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 31/08/2560 ]
'ไข้เลือดออก'อย่านิ่งนอนใจ 9 สัญญาณอันตรายในเด็ก

ไข้เลือดออก และ ภาวะแทรกซ้อน ที่คร่าชีวิตพระเอกหนุ่ม ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ "โรคไข้เลือดออก" กลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้ง หลังจากโรคนี้ซึ่งมีการระบาดเป็นประจำทุกปีในภูมิภาคเขตร้อน มักจะถูกมองข้ามและเข้าใจว่าความรุนแรงของโรคไม่มากนัก
          สายพันธุ์ของไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ด้วยกัน แต่เคยพบในไทยเพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น และทั้งหมดล้วนเกิดจาก "ไวรัสเดงกี่"
          นายแพทย์ธีรพล  โตพันธานนท์  อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มาพร้อมกับ "ยุงลาย" ที่มีอายุสั้นเพียง 7 วันเท่านั้น ซึ่งโรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกฤดูกาล ขอเพียงมีแหล่งน้ำขัง ที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ แต่ในฤดูฝนจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเพราะปริมาณน้ำมากทำให้เกิดแหล่งน้ำขังได้ในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มอายุที่พบเป็นโรคดังกล่าวมาก คือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10-14 ปี ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น
          อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้าข่ายความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์ กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาโรคเด็กที่ยุ่งยาก ซับซ้อน รักษาเด็กป่วยที่ส่งต่อมาจากทั่วประเทศ  พร้อมทั้งเป็นหน่วยงานที่มีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านไข้เลือดออก โดยเป็นผู้นำในการทำแนวทางการวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ลดการเสียชีวิตหรือลดความพิการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก โดยได้รับการยอมรับในระดับโลกจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น WHO Collaborating Center ด้านการดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก
          นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี่เท่านั้น
          "จากการวิจัยพบว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ 60% ป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ 90% แต่ถ้าร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น"
          ชั้นที่ 2 คือ การช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และชั้นที่ 3 คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะไข้เลือดออกที่เป็นมากจะมีโอกาสเกิดภาวะช็อกเมื่อไข้เริ่มลด พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท นายแพทย์สมเกียรติ ยังบอกถึง 9 สัญญาณอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก คือ 1. ไข้ลงหรือไข้ลดลง แต่อาการผู้ป่วยกลับเลวลง ยังมีอาการเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย 2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา 3. ปวดท้องมาก 4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ 5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ 6. กระหายน้ำตลอดเวลา 7. ร้องกวนมากในเด็กเล็ก 8. ตัวเย็น สีผิวคล้ำลงหรือตัวลาย และ 9. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-6 ชั่วโมง
          ควรสังเกตอาการดังกล่าวให้ดี โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วก็ควรต้องไปพบแพทย์ ทั้งนี้ สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพเด็กหรือโรคไข้เลือดออกได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านไข้เลือดออก โทร. 1415 ต่อ 3904 และ www.childrenhospital.go.th

 pageview  1205145    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved