Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 02/08/2560 ]
รถฉุกเฉินฝ่าไฟแดงได้แค่ไหน??

  สถิติการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาล 42 ครั้ง ในปี 59 จากจำนวนสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วประเทศราว 400,000 ครั้ง ในภาวะที่เร่งรีบ ต้องเลือกระหว่างการนำผู้ป่วยถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด ต้องใช้ความเร็วในการขับขี่เกินกฎหมาย รวมทั้งต้องเลือกที่จะฝ่าสัญญาณไฟจราจร
          ล่าสุดมีเวทีเสวนา "ฝ่าไฟแดงได้ไหม เร็วอีกนิดแล้วไง ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หมดอายุความ" ถกเพื่อหาจุดตรงกลางที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  โดยมีผู้แทนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิร่วมกตัญญู รพ.ศิริราช หน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุบนท้องถนนเข้าร่วมหารือประเด็นนี้
          ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะแกนนำจัดงาน กล่าวว่าจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถพยาบาลฉุกเฉินที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยล่าสุดเกิดขึ้นกับพนักงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องเสียชีวิตจากการถูกรถพยาบาลฉุกเฉินขับชน ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียชีวิตปฏิบัติตามกฎจราจรทุกอย่าง เข้าใจเจตนารมณ์ของรถฉุกเฉินในการช่วยชีวิตคนแต่เราจะทำอย่างไร ให้การกู้ชีพเป็นการช่วยชีวิตคน โดยไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย
          " พ.ร.บ.จราจร  ทางบก ปี  2522 ที่ระบุว่ารถฉุกเฉินสามารถที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรได้ในขณะปฏิบัติหน้าที่แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่แล้วแต่กรณีไป จึงอยากเสนอให้มีการแก้กฎหมายให้ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไม่ได้รับสิทธิในการฝ่าไฟแดง เพราะเรื่องสัญญาณไฟเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้เกิดหรือไม่เกิดอุบัติเหตุเพราะประชาชนเชื่อว่าสัญญาณไฟเขียวมีความปลอดภัยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันดูแลรถพยาบาลฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานทั้งด้านคนขับและคุณภาพรถ"
          ขณะที่ ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาพและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ โดยภาพใหญ่ มิติของการออกแบบถนนในกรุงเทพฯถือว่ามีน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก ซึ่งเกณฑ์การออกแบบถนนให้เพียงพอกับเมืองต้องมีอย่าง น้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่เมือง โดยเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกามีถนนร้อยละ 38 ของพื้นที่ แต่กรุงเทพฯมีถนนเพียงร้อยละ 3.76 เท่านั้น  ถนนเหล่านี้ต้องถูกนำมาใช้สำหรับรถยนต์ ยานพาหนะขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถรองรับคนเดินเท้า คนขี่จักรยานได้เพียงพอ
          อยากเสนอ ให้ทำเส้นทาง คนเดินเท้ากับเส้นทางรถจักรยานแยกออกมาต่างหาก เมื่อมีจุดตัดบนทางแยกถนนต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้รถยนต์ช้าลง ก่อนถึงทาง ข้าม 100 เมตรรวมทั้งต้องจัดสัญญาณไฟสู่ศูนย์กลาง ที่มี เจ้าหน้าที่จราจรคอยควบคุมดูแลทั้งระบบเพราะปัจจุบันกรุงเทพฯจัดการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีเพียง 28 จุด จากทั้งหมด 72 จุดเท่านั้น
          "หากมีช่องทางเฉพาะของรถฉุกเฉินทั้งรถพยาบาลฉุกเฉินและรถดับเพลิง จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้"
          นายทศพล สุวารี หัวหน้าฝ่ายสัญญาณไฟจราจร กทม. กล่าวว่า เดิมทีอุปกรณ์การควบคุมสัญญาณไฟจราจรอยู่กับกรมบังคับการตำรวจแห่งชาติ เมื่อแยกเป็นท้องถิ่นก็แบ่งงานให้กทม.จัดหาอุปกรณ์สัญญาณและตำรวจมีหน้าที่อำนวยการจัดการจราจร ซึ่งกทม.เองพยายามทำให้สมบูรณ์แต่การจัดระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบเป็นพื้นที่ Area TrafficControl (ATC) ใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่และตำรวจจราจรเอง ก็ไม่ยอมรับ จึงทำให้ระบบสัญญาณไฟเป็นแบบแยกเดี่ยวและเชื่อมโยงกล้องของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.)
          ด้านนพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สถิติปี  2559  พบว่ารถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปปฏิบัติการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านระบบสายด่วน 1669 ประมาณ 1.5 ล้านครั้ง คิดเฉลี่ยคร่าว ๆ ประมาณ 100,000 ครั้งต่อเดือน เป็นการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติและเร่งด่วนร้อยละ 80 ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เวลาเป็นเรื่องสำคัญต่อโอกาสการรอดชีวิต ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการนำส่งผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน
          สรุปตอนท้ายของการประชุม ผศ.ดร.ปริญญาได้เสนอให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมร่วมกันทำข้อตกลง (MOU) โดยจะจัดเวทีหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้ตกผลึกต่อไป.

 pageview  1205101    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved