Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 27/06/2560 ]
กระบี่-กรมควบคุมโรคชูนโยบาย ท่องเที่ยวสบายใจ ห่างไกลไข้เลือดออก

  จังหวัดกระบี่ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ ต้น ๆ ของประเทศ ที่แต่ละปีจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก การเกิดโรคไข้เลือดออกนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยวแล้วย่อมจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย จังหวัดกระบี่จึงได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ "วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017" โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว ประชาชนชาวกระบี่ ร่วมกันรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก  เน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ
          เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล และ นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผอ.สคร.11 นครศรีฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมควบคุมโรค ร่วมกิจกรรมรณรงค์ "วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017" ASEAN Dengue Day 2017   ในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่โดยมี นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่  นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิรพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขต 11 กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  นายพันคำ กิตติธรกุลนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง นายวัฒน เริงสมุทร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ นายรอง ภูเก้าล้วน นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ นายแพทย์ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ร่วมให้การต้อนรับ 
          นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ขอขอบคุณกรมควบคุมโรคที่ได้เลือกพื้นที่จังหวัดกระบี่ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ฯในครั้งนี้ และขอให้การจัดกิจกรรมรณรงค์ "วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017" สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่จังหวัดกระบี่
          นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในอาเซียน โดยพบผู้ป่วยรวมกว่าปีละ 200,000 ราย  จากผลสำรวจครึ่งปีแรกมีรายงานผู้ป่วยใน 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวม 69,213 ราย เสียชีวิต 57 ราย ซึ่งในปีนี้อาเซียนกำหนดประเด็นรณรงค์ คือ United Fight Against Dengue หรือประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก ในขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศ ไทย ปี 2560 ตั้งแต่ เดือนมกราคมถึงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น 12,670 ราย เสียชีวิต 23 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้รวม 6,583 ราย หรือมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) ของผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปีจังหวัดท่องเที่ยวมีอัตราป่วยสูงสุดของประเทศ ได้แก่ กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา สงขลา และพัทลุง 
          เฉพาะที่จังหวัดกระบี่พบผู้ป่วยสูงสุดในอำเภอที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมือง 113 ราย อำเภอคลองท่อม 17 ราย และเกาะลันตา 10 ราย ซึ่งการเกิดโรคไข้เลือดออกในแหล่งท่องเที่ยว จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วน (ประชารัฐ) ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุข สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้า และที่สำคัญคือประชาชน ต้องช่วยกันดูแลชุมชน สถานที่สาธารณะ แหล่งท่องเที่ยวให้สะอาด น่าอยู่ ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยทางด้านสุขภาพ
          จึงขอแนะนำให้ประชาชนยึดมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง คือ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่รกทึบจนเป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2. เก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจมีน้ำขัง ไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3. เก็บภาชนะใส่น้ำปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวเอง ก็ต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดด้วยวิธีต่าง ๆ  เช่น ใช้ยาทากันยุง ปิดประตูหน้าต่างที่พักให้มิดชิด ช่วยดูแจกันดอกไม้ว่ามีลูกน้ำยุงลายหรือไม่หากพบให้เทลงดิน เพื่อที่จะให้ไม่เกิดยุงลายมารบกวน และยังทำให้ปลอดภัยจากโรคที่นำโดยยุงด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
          ด้านนายแพทย์ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาคใต้เป็นภาคที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ตลอดปี ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก การดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาไข้เลือดออกลดลงได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น จังหวัดกระบี่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักแก่ประชาชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้ช่วยกันดูแลแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาด ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อไม่ให้มีการระบาดของโรคจนส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว.

 pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved