Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/03/2560 ]
เตือนภัย'โรคลมแดด'อันตรายถึงชีวิต

 นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายปรับตัวไม่ทันกับความร้อนที่เกิดขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤติ ปกติแล้วร่างกายของมนุษย์มีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส หากร่างกายเผชิญกับอากาศที่ร้อนกว่านี้ และไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิได้ อาจเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งมีอันตรายอย่างรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง หากได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีจะสามารถช่วยรักษาชีวิตได้ และลดความพิการได้อย่างมาก อาการสำคัญคือ ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ เกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หายใจเร็ว ไม่มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันต่ำ กระสับกระส่าย มึนงง ชักเกร็ง และหมดสติได้
          สำหรับข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-17 เมษายน ของปีที่แล้ว (2559) พบผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อน 21 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 1 คน อายุระหว่าง 29-72 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่สาธารณะ และเป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง มีผู้ เสียชีวิตถึง 8 คน ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศร้อน โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคลมแดด 6 กลุ่มเสี่ยงได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้แรงงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4. คนอ้วน 5. คนอดนอน และ 6. คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
          ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก 2. เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด 3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ 4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย 5. รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ขณะที่การปฏิบัติตัวไม่ให้เป็นลมแดด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวด้านหลอดเลือดหรือหัวใจ หากจำเป็นให้กางร่ม หรือใส่หมวก ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ ไม่ทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดดเพราะอาจเสียชีวิตจากความร้อนได้ หาก รู้สึกหิวน้ำมาก ตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ ปากคอแห้ง อาจวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์.

 pageview  1204999    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved