Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 20/03/2560 ]
คืบหน้าแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.สุขภาพจิต คุ้มครองประชาชน พิทักษ์สิทธิผู้ป่วย

    ความผิดปกติทางจิตเวช หรือการป่วยทางจิตเวช เป็นความผิดปกติที่ส่งผลอย่างมากต่อความคิด การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งมีผลให้เกิดปัญหาในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นและการใช้ชีวิตประจำวัน โรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา และฐานะทางสังคมใด หากแต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ทำให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้ความผิดปกติทางจิตเวชนั้นทวีความรุนแรงขึ้น จนก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้ป่วยเองหรือผู้อื่นในสังคม การตรา "พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551" ขึ้นมาจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยกำหนดกระบวนการในการบำบัดรักษาผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช  เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยทางจิตเวช ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ขาดความสามารถในการตัดสินใจ เพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็ว เป็นการป้องกันหรือบรรเทาไม่ให้ความผิดปกติทางจิตเวชมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ป้องกันการกระทำที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง เช่น การทำร้ายตนเอง หรือการฆ่าตัวตาย ตลอดจนช่วยในการกำหนดกระบวนการในการบำบัดรักษาผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา หรือภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญา
          โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติได้จัดการประชุม ครั้งที่ 1/2560 เพื่อรับทราบแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรี นาย
          แพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
          น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติได้รับทราบว่าร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฉบับใหม่ มีสาระสำคัญคือการเพิ่มเติมบทนิยามองค์ประกอบรวมทั้งอำนาจและหน้าที่ ของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ที่เอื้อต่อการดำเนินงานและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยทางจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนการคุ้มครองผู้ป่วย การละเมิดสิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน อาทิ การกำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ในสื่อทุกประเภท ต้องไม่ทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือความเสียหายแก่ จิตใจ ชื่อเสียง หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของผู้ป่วยและครอบครัว
          การกำหนดให้ผู้รับดูแลผู้ป่วย มีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เป็นต้น
          ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวน การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรม การกฤษฎีกาเตรียม ส่งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันร่างกฎหมายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
          น.ต.นพ.บุญเรืองยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการนำส่งผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวมทั้งการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันของสิทธิในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องการลดช่องว่างการใช้สิทธิประกันสังคมของผู้พิการ ได้แก่ การคุ้มครองกรณีการฆ่าตัวตาย (การรอเปลี่ยนสิทธิ ให้สามารถใช้สิทธิเดิมได้ระหว่างรอดำเนินการ)และการไม่ต้องสำรองจ่ายเงินล่วงหน้า
          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและยุทธ ศาสตร์สุขภาพจิต แห่งชาติ เพื่อจัดทำร่างนโยบายและยุทธ ศาสตร์สุขภาพจิต แห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน เสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับใหม่
          "พระราชบัญญัติสุขภาพจิต" จึงเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคม ที่เน้น "การป้องกัน" ไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า "การแก้ไข" หลังจากมีอาการป่วยทางจิตเวชแล้วตลอดจนคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ป้องกันหรือบรรเทาไม่ให้อาการผิดปกติทางจิตรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้
          'ทั้งนี้หากพบเห็นผู้มีความผิดปกติทางจิตหรือมีแนว โน้มเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น สามารถแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิ/กู้ชีพ/กู้ภัย หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่งโรงพยาบาลได้" น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวในตอนท้าย.

 pageview  1204384    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved