Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 18/04/2555 ]
จับตา'ดีเอสไอ'เดินหน้าไล่เชือด!ขบวนการทุจริตเบิกจ่ายยาแก้หวัด

ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ข่าวการสอบสวนคดีทุจริตการเบิกจ่าย ยาแก้หวัดสูตร ที่มีส่วนผสมของ สารซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาลของรัฐและการจำหน่ายยาดังกล่าวโดยมิชอบของสถานจำหน่ายยาเอกชน เพื่อนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตยาเสพติด ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์ ได้เกาะติดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมาจากความผิดปกติที่ไปพบซองยาแก้หวัดถูกนำไปแกะยาออกแล้วทิ้งซองไว้เป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
          กระทั่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)เห็นความผิดปกติพยายามตามเก็บข้อมูลมาตลอดหลายเดือน จนพบมีความโยงใยกันเป็นขบวนการไม่ธรรมดา ที่สำคัญ ตัวยาแก้หวัดได้ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดแน่นอน กระทั่งทำให้เรื่องดังกล่าวถูกนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมมีการอนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ ส่งผลให้ดีเอสไอต้องรับหน้าที่เป็น "เจ้าภาพ" หลักในการดำเนินการ
          จากนั้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เริ่มเดินเครื่องทำงานทันที รับมอบสำนวนการสอบสวนจากสถานีตำรวจภูธรหลายแห่งทั้งของภาคอีสานและภาคเหนือ ที่ได้สอบสวนพบความเชื่อมโยงของขบวนการลักลอบนำยาแก้หวัดออกจากสถานพยาบาล จากนั้นจึงประสานความร่วมมือกับอีก 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนธิกำลังร่วมกัน เนื่องจากคดีมีความเกี่ยวพัน เชื่อมโยงกันหลายส่วน ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.),สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (ปปง.), สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.), กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
          โดยมีการจัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตรวจสอบและมีข้อมูลการเบิกจ่ายยาของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง กระทั่งสามารถทำรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นรายงานต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จากข้อมูลเบื้องต้นการสอบสวนสถานพยาบาล 12 แห่ง ดีเอสไอพบว่าขณะนี้มี ยาแก้หวัดสูตร ที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีน หายออกจากระบบรักษาพยาบาลแล้ว จำนวน 11,602,514 เม็ด และยาแก้หวัดสูตรน้ำ 6,500 ขวด
          การสอบสวนของดีเอสไอ ตั้งจุดเริ่มต้นไล่ตามคลี่ปมปริศนา จากการพบแผงและซองยาแก้หวัดจำนวนมากถูกนำมาทิ้งไว้ที่กองขยะหลังหมู่บ้านธารทิพย์วิลล่า หมู่ 3 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นจุดแรกที่พบแผงยาและเม็ดยาจำนวนมาก นอกจากนี้ขยายผลไปตรวจภายในต้องสงสัยใกล้ ๆ กันใน ต.สันกลาง ยังพบยาแก้หวัดที่มีตัวยาหลากหลายรูปแบบมีทั้ง ซูโดอีเฟดรีน, ไวตาเฟด, แอ็คติเฟด, ไซนูเซด ไตรเฟด ฯลฯ
          ต่อมาเจ้าหน้าที่ยังได้ขยายผลการสืบสวนสอบสวนลงลึก ยังไปพบความผิดปกติของรพ.รัฐ, รพ.เอกชน และคลินิกมีปัญหาหลากหลายรูปแบบเช่น รพ.ศูนย์อุดรธานี จ.อุดรธานี มียาแก้หวัดหายไปประมาณ 7 ล้านเม็ด โดยมีนายสมชาย แซ่โค้ว เภสัชกรชำนาญการ ซึ่งถูกออกหมายจับและอยู่ระหว่างหลบหนีเป็นผู้นำออกไป, รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ พบยอดการสั่งซื้อยาแก้หวัดจำนวน 1.2 ล้านเม็ดแต่ยาไม่ได้ถูกนำเข้าระบบคลังยา บางรพ.พบยอดการสั่งซื้อยาในระบบของอย.และโรงพยาบาลไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังพบหัวหน้าฝ่ายจัดซื้อปลอมลายเซ็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล บางแห่งยังมีบริษัทยาแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลเพื่อใช้สั่งยาแก้หวัดนำไปขายให้ร้านขายยาหลายแห่ง เป็นต้น
          ส่วนผลการตรวจสอบจับกุม ยาแก้หวัดลอตใหญ่ ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ พบมี "หมายเลข"การสั่งยาแก้หวัดของสถานพยาบาลและคลินิก 13 แห่ง ในหลายจังหวัดเข้าไปเกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์อุดรธานี ลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และนครศรีธรรมราช ฯลฯ จากการสอบสวนที่พบความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนของสถานพยาบาลบางแห่งทำให้เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมามีการประชุมร่วม 8 หน่วยงานพร้อมพนักงานอัยการ ได้มีมติเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนเป็นครั้งแรก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบเข้าในสำนวนการสอบสวนอย่างเป็นทางการ
          สำหรับผู้ที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอเรียกเข้าให้การชุดแรก แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงพยาบาลรัฐ,2. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชน และ 3. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ในฐานะกำกับดูแลการเบิกจ่ายยา นัดหมายเรียกเข้าให้การเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ในส่วนนี้พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ผู้ได้รับมอบหมายเข้าให้การแทนได้
          อย่างไรก็ดีข้อมูลที่พนักงานสอบสวนต้องการจาก 3 หน่วยงานหลัก คือ ขอทราบถึงการบริหารจัดการยาแก้หวัดที่มีสารซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนประกอบให้เห็นภาพรวมทั้งระบบว่ามีหลักเกณฑ์การอนุมัติ การจัดซื้อ วิธีเบิกจ่ายอย่างไร เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวางเป็นหลักเกณฑ์การสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในส่วนอื่น ในส่วนที่ 2 ที่ได้เรียกมาให้การคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และเจ้าของคลินิก รวม 11 แห่ง ข้อมูลที่ดีเอสไอต้องการทราบจากกลุ่มนี้คือ วิธีปฏิบัติของแต่ละสถานพยาบาล มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และที่ผ่านมามีการควบคุมดูแลการเบิกจ่ายอย่างไร หลังพบว่าสถานพยาบาลมีการความแตกต่างเรื่องขนาดจึงมีวิธีบริหารจัดการแตกต่างกันออกไป เช่น รพ.ศูนย์อุดรธานี พบว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่จึงต้องแยกคลังยาย่อยด้วย
          ขณะเดียวกันในเรื่องนี้ ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์ ได้สัมภาษณ์ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้การเท่านั้น การแจ้งข้อกล่าวหาจะดำเนินการหลังขั้นตอนนี้ โดยจะทยอยเรียกสอบกลุ่มต่าง ๆ และแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง หากพบมีพยานหลักฐานชัดเจน โดยคดีดังกล่าวมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 6 ฉบับคือ ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ. ยา 2510 , พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 2518, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522, พ.ร.บ.การปราบปรามการฟอกเงิน 2542 และพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 2534
          'ต้องมีการพิจารณาพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เบื้องต้นดีเอสไอจะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องนำหลักฐานเข้าชี้แจงอย่างเต็มที่รวมถึงการเรียกกลุ่มเภสัชกรที่เข้าไปเกี่ยวข้องและมีรายชื่อถูกตั้งกรรมการสอบวินัยเข้าให้การชี้แจงตัวเองด้วย โดยดีเอสไอตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้จะต้องแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาชุดแรกของคดีให้ได้ด้วย" อธิบดีดีเอสไอ กล่าวทิ้งท้าย.
          เรียกสอบ 11 ผอ.รพ.
          ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและเจ้าของคลินิกรวม 11 แห่ง ที่ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอเรียกมาให้การ ประกอบด้วย 1. รพ.ศูนย์อุดรธานี จ.อุดรธานี 2. รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ 3. รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 4. รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 5. รพ.นวมินทร์ 1 กรุงเทพฯ 6. รพ.สยามราษฎร์ จ.เชียงใหม่ 7. รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ 8. รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ 9. รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 10. คลินิกสุพรชัย จ.ลพบุรี และ11. คลินิกหมอสัมพันธ์ฯ จ.เชียงใหม่ ในส่วนนี้ดีเอสไอกำชับให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและเจ้าของคลินิกเป็นผู้เข้าให้การพร้อมชี้แจงพยานหลักฐานด้วยตนเองเท่านั้น โดยกำหนดเข้าให้การระหว่างวันที่ 19-20 เม.ย.นี้

 pageview  1205123    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved