Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 27/03/2558 ]
ตรวจความเสี่ยงปอดอุดกั้นเรื้อรัง
 ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
          การสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่อันตรายและทำให้ปอดอักเสบเกิดการอุดกั้นจนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
          "โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง" (COPD) เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่มักจะถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการวินิจฉัยและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 5 ของโลก องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังไม่มีการป้องกันและรณรงค์กันอย่าง จริงจัง
          โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งทำให้โครงสร้างของหลอดลมเปลี่ยนไปจากปกติทำให้แคบลง อันเนื่องมาจากการสูดสารพิษต่าง ๆ อย่าง ควันบุหรี่หรือสารเคมี ที่มีผลทำให้เกิดอาการอักเสบ และแม้ว่าการสูบบุหรี่จะเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุเดียวที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้
          ปอดอุดกั้นเรื้อรังถือเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วย โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นจะมีอาการหายใจติดขัด หอบ ไอเรื้อรัง เหนื่อยง่ายและมีเสมหะมาก
          ในประเทศไทย ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ไอ มีเสมหะ แพทย์แนะนำให้เข้ารับการตรวจ สอบสภาพปอดอยู่สม่ำเสมอ เพื่อจะได้ตรวจหาอาการของโรคพบแต่ เนิ่น ๆ และรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยการใช้ยาพ่น ยารับประทาน สิ่งสำคัญคือ ต้องลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะไปสัมผัสกับสารพิษโดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ร่วมกับการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
          วิธีการที่ใช้ในการตรวจวัดทางการแพทย์ ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพปอด คือการตรวจวัดอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอดด้วยเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) เพื่อบ่งชี้ถึงการเสื่อมสภาพของปอด ซึ่งก่อนการตรวจ ไม่ควรออกกำลังกายก่อนมาตรวจอย่างน้อย 30 นาที ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณอกและท้อง เลี่ยงการทานอาหารจนอิ่มมากก่อนตรวจ 2 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยโรคหืดต้องหยุดยาขยายหลอดลมก่อนตรวจ
          วิธีทดสอบ เริ่มจากยืนตัวตรงตามสบาย จากนั้นหนีบจมูก แล้วหายใจเข้าจนเต็มที่อมกระบอกเครื่องเป่า และปิดปากให้แน่นไม่ให้มีลมรั่วออกภายนอก เมื่อหายใจออกมาต้องหายใจออกให้เร็วและแรงอย่างเต็มที่กว่าจะไม่มีอากาศออกจากปอดอีก ซึ่งควรจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 วินาที
          จากนั้น จะวัดจำนวนของอากาศที่วัดได้เมื่อหายใจออกหรือ FVC :  Forced Vital Capacity และตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งอาจจะมีการอุดกั้นของหลอดลม ความยืดหยุ่นของปอดลดลง หรือมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างรวมกัน ซึ่งต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อรักษาต่อไป
          นี่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการตรวจวินิจฉัย แต่ในกระบวน การรักษายังมีขั้นตอนอีกมาก ทั้งยังต้องใช้วิธีการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป แต่อย่าลืมข้อสำคัญในเรื่องการไม่สูบบุหรี่ เพราะอย่างที่อธิบายไว้ บุหรี่ถือเป็นสาเหตุหลักส่วนหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง.
 pageview  1205101    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved