Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 25/12/2557 ]
'โพรไบโอติคส์' จุลินทรีย์มหัศจรรย์ ปรับสมดุลลำไส้...ขับถ่ายง่าย ลดเครียด
  โรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่น่ากลัว โดยเฉพาะ โรคมะเร็ง ลำไส้ ในประเทศไทยพบในผู้ชายมากเป็นอันดับ 3 และในผู้หญิงมากเป็นอันดับ 5 หากเราปล่อยปละละเลยอาการเริ่มต้นของโรคร้ายนี้ คือระบบ ขับถ่ายมีปัญหาเรื้อรัง เช่น มีอาการท้องผูก หรืออาการท้องเสียบ่อย ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ โดยการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกหลัก
          แพทย์หญิง วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (Vitallife) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า เรื่องระบบขับถ่ายทำงานไม่ดีเป็นปัญหาที่เราทุกคนเคยเจอ มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ อาการท้องเสียและอาการท้องผูก ซึ่งอาการท้องผูกเป็นการถ่ายอุจจาระแข็งเกินไปทำให้มีปัญหาเลือดออกและเป็นริดสีดวงได้ ใครที่มีอาการทั้ง 2 กลุ่มนี้แสดงว่าระบบการทำงานต่าง ๆ ของลำไส้ตั้งแต่การย่อย การดูดซึม มีปัญหาต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
          วิธีการแก้ไขอาการท้องเสียทางธรรมชาติต้องรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร เพราะเป็นตัวดูดน้ำ แต่ถ้ายังไม่หายควรพบแพทย์ส่วนอาการท้องผูก มีสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ค่อยดี และเกิดจากการที่เรามีไลฟ์สไตล์นั่งติดอยู่กับโต๊ะทำงานในออฟฟิศตลอดเวลา ทำให้ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนไหวจึงมีปัญหาเรื่องท้องผูกตามมา ฉะนั้นหมออยากแนะนำว่านอกจากการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารเพียงพอแล้ว ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินอย่างน้อยวันละ 15 นาที เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนตัวอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอ
          นอกจากนี้เรายังสามารถปรับสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ที่เสียไปให้กลับมาแข็งแรงดังเดิมได้ด้วย เพราะจริง ๆ แล้วในลำไส้มีเชื้อจุลินทรีย์ตัวดีอยู่ แต่ไลฟ์สไตล์การกินอาหารที่ไม่ค่อยดี เช่น มีโลหะหนัก มีการติดเชื้อ หรือบางคนทานยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ จึงทำให้จุลินทรีย์ตัวดีตายไปและมีจุลินทรีย์ตัวไม่ดีเข้ามาอยู่ในลำไส้แทน ซึ่งการเลือกรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ตัวดีจากธรรมชาติสามารถฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในลำไส้ให้กลับมาทำงานดีเหมือนเดิมได้
          อาหารที่มีจุลินทรีย์ตัวดีจากธรรม ชาติที่ทุกคนควรรับประทาน คือนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต ที่ถือเป็นแหล่งของแบคทีเรียตัวดี "โพรไบโอติคส์" มีประโยชน์ประการแรกคือทำให้ระบบความเป็นกรดด่างของลำไส้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วกินอาหารแปลก ๆ จนติดเชื้อทำให้ลำไส้อักเสบ
          ข้อดีประการต่อมาผู้หญิงต้องชอบมากแน่นอนเพราะพบว่าโพรไบโอติคส์จะช่วยเรื่อง คุมน้ำหนัก โดยในต่างประเทศได้ทำการวิจัยนำเอาหนูตัวอ้วนมาเลี้ยงจนมีแต่แบคทีเรียตัวไม่ดี และเลี้ยงหนูตัวผอมให้มีแบคทีเรียตัวดี มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากนั้นล้างลำไส้เอาแบคทีเรียตัวดีกับไม่ดีของทั้ง 2 ตัวออกมาจนหมด และสลับอุจจาระกันกลับเข้าไปในตัวหนูทั้งสอง ต่อมาพบว่าหนูตัวอ้วนเมื่อแบคทีเรียตัวดีเข้าไปก็ทำให้กลายเป็นหนูผอม และมีระบบการเผาผลาญของร่างกายกลับมาเป็นปกติ ในขณะที่หนูตัวผอมเมื่อได้แบคทีเรียตัวไม่ดีเข้าไปก็กลายเป็นหนูตัวอ้วน จากนั้นจึงทำการวิจัยเพิ่มเติมพบว่าแบคทีเรียตัวดีมี การหลั่งสารบางอย่างที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกายที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วน
          คุณประโยชน์อย่างที่สาม คือแบคที เรียตัวดีมีการผลิตสารบางอย่างที่เรียกว่า กลุ่มวิตามินเค 2 ช่วยในเรื่องของกระดูก และระบบการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยผลิตสารสื่อประสาทบาง ตัว ซึ่งเป็นกลุ่มพวกสารเคมีที่ทำให้สมองเราทำงานได้อย่างสมดุลและนอนหลับพักผ่อน ได้ดีไม่เครียดดังนั้นการดื่มนมเปรี้ยวสำหรับคนทั่วไปแนะนำว่าดื่มวันละ 1-2 ขวด เป็นต้น
          จากคุณประโยชน์ของโพรไบโอติคส์ ที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มหัศ จรรย์ทีเดียว.
          แบคทีเรียกรดแลคติค สายพันธุ์ยาคูลท์
          ข้อมูลจากหนังสือ "ประโยชน์ของแบคทีเรียกรดแลคติคที่มีต่อสุขภาพของเรา"ซึ่งแปลโดย รศ.ดร.ส่งศรี กุลปรีชา ภาควิชาจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า ลำไส้ของคนเราเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในลำไส้มีจุลินทรีย์จำนวนมหาศาลอาศัยอยู่ เรียกว่า "จุลินทรีย์ในลำไส้" หรือ "แบคทีเรียในลำไส้" ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยสายพันธุ์อาศัยอยู่ในลำไส้ของเราคละเคล้ากันไป ยกตัวอย่าง กลุ่มแบคทีเรียดีในลำไส้ ประกอบด้วย แบคทีเรียกรดแลคติคและแบคทีเรียบิโฟโด ซึ่งแบคทีเรียกรดแลคติคจำเป็นต้องเข้าสู่ลำไส้ของเราในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงจะสามารถทำหน้าที่เป็นโพรไบโอติคส์ได้อย่างดี เราจึงให้คำจำกัดความของโพรไบโอติคส์ว่า เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่มันอาศัยอยู่ โดยช่วยทำให้แบคทีเรียในลำไส้ของมนุษย์มีสภาวะสมดุลดีขึ้น
          แบคทีเรียกรดแลคติค L.casei สายพันธุ์ชิโรต้า และ B.breve สายพันธุ์ยาคูลท์เป็นตัวอย่างของโพรไบโอติคส์จุลินทรีย์ที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณสมบัติในการช่วยดูแลการทำงานของลำไส้ของเราให้เป็นปกติ ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น และโพรไบโอติคส์กลุ่มสำคัญหลายกลุ่มได้ถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในการประชุมวิชาการต่าง ๆ ได้แก่ ความสามารถในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ช่วยป้องกันการติดเชื้อระยะเบื้องต้นหลังการผ่าตัด
 pageview  1205121    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved