Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/02/2555 ]
'ปวดศีรษะที่พบบ่อย - เครียดและไมเกรน'

         นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องของการ "ปวดศีรษะ" นับเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราได้บ่อยที่สุด และในขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ที่เป็นได้มากด้วยเช่นกัน อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในสมองของผู้ป่วย และปัจจัยภายนอก แต่ละส่วนยังสามารถแยกออกเป็นโรคได้อีกหลายชนิด ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ เราไปร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และทางเลือกในการรักษาว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง พร้อมทั้งแนวทางในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศีรษะ
          อาการปวดศีรษะ มีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน แนวทางการรักษาจึงสามารถจำแนกออกได้หลายส่วน ทั้งการรักษาด้วยยา การผ่าตัด และการรักษาโดยไม่ใช้ยา การพิจารณาวิธีในการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นสำคัญ สำหรับสาเหตุของการปวดศีรษะที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
          การปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากในสมอง(ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเนื้อสมอง) เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง ความดันสมองเพิ่มผิดปกติ ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น โดยสามารถตรวจได้จากการตรวจร่างกายทางสมอง การซักประวัติผู้ป่วยรายละเอียดของการปวดศีรษะ ลักษณะการปวด ตำแหน่ง เวลาที่เกิดอาการ ระยะเวลาการปวด ความรุนแรง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก และเมื่อพบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนจะตรวจเพิ่มเติมด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging : MRI), การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง (Computerized Tomography : CT Scan) หรือการเจาะหลังเพื่อหาสาเหตุของโรค
          การปวดศีรษะแบบไม่พบสาเหตุชัดเจนโดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ไมเกรน การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว
          ไมเกรน คือ โรคของระบบการรับความรู้สึกของเส้นเลือดไวผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดตุ๊บ ๆ ปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง ไมเกรนมีอาการเฉพาะตัวคือ ปวดตุ๊บ ๆ ปวดรุนแรง ปวดติดต่อกัน 4-72 ชม. ปวดข้างเดียว หรือย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่ง เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งไมเกรนจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้น เช่น รอบเดือน อาหารบางชนิดและอาจมีสัญญาณนำที่เรียกว่า "ออร่า"
          การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension-type headache) จะมีอาการปวดเป็นประจำ ปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับ หน้าผาก ทั่วศีรษะ ปวดช่วงที่อากาศร้อน บ่าย ๆ เย็น ๆ หลังจากทำงานมานาน ๆ สาเหตุของโรคเกิดจากการใช้สายตามาก นั่งทำงานนาน ๆ เครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
          แนวทางการรักษา เมื่อตรวจวินิจฉัยและทราบสาเหตุของการปวดศีรษะแล้ว แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการ และสำหรับการรักษาการปวดศีรษะแบบไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การรักษาทางยา และการรักษาโดยไม่ใช้ยา มีดังนี้
          -การทำกายภาพบำบัด สำหรับหลักการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดกับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดคอ เพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อต้นคอ เพราะโดยปกติผู้ที่ปวดศีรษะ
          บ่อย ๆ จะมีอาการปวดต้นคอทั้ง 2 ข้างร่วมด้วย โดยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องที่ให้ความร้อน เช่น การประคบแผ่นร้อน การนวดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ และการนวดด้วยมือตามตำแหน่งที่มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ และเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอมีการคลายตัวจะส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงเป็นการช่วยบรรเทาอาการปวดคอและผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ อาจทำให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง แต่ทั้งนี้ผลที่ได้จะขึ้นกับโรคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
          สำหรับผู้ป่วยปวดศีรษะที่ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ คือ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบสมอง และประสาท เช่น โรคเนื้องอกในสมอง การติดเชื้อของน้ำไขสันหลัง เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์จะส่งต่อให้รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดคอการประเมินอาการเพื่อการรักษาที่ตรงจุด
          เพื่อให้การทำกายภาพบำบัดเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยในแต่ละราย ขั้นตอนแรกในการรักษานักกายภาพบำบัดจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินอาการจากตำแหน่งของการปวด ลักษณะการเคลื่อนไหว อิริยาบถที่ทำให้เกิดอาการ และให้ทราบว่าอาการปวดคอมีความสัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะอย่างไร เช่น มีอาการปวดศีรษะก่อนและจึงเกิดอาการปวดคอตามมา หรือมีอาการปวดคอขึ้นก่อนจึงค่อยมีการปวดศีรษะตามมา เป็นต้น เพื่อพิจารณาระยะของโรค ความรุนแรงและตำแหน่งของโรค ก่อนเลือกวิธีในการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่
          - แผ่นประคบร้อน (Hot Pack)  เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ้- การรักษานวดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy) เป็นเครื่องรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก ลดอาการบวม และช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
          - การทำจิตบำบัดและการโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่
          สำหรับการรักษาผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
          1. การรักษาในระดับจิตรู้สำนึก Counseling หรือจิตบำบัด กรณีของผู้ที่ปวดศีรษะจากความเครียดด้วยปัญหาที่ระบุได้ชัดเจน เช่น ทำงานหนัก ปัญหาหนี้สิน ครอบครัว เรื่องส่วนตัว เรื่องสังคม เป็นต้น
          2. การรักษาในระดับจิตใต้สำนึก ในกรณีของผู้ที่มีความฝังใจสะสมอยู่เดิม และส่งผลให้เกิดความเครียดในปัจจุบัน จึงต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy) เป็นลักษณะของการล้างใจ (Mental Detox) และสำหรับสะกดจิตบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่ในปัจจุบันเรียกได้อีกชื่อว่า การโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ (Neuro - Linguistic Programming : NLP) ด้วยการเคลียร์ ล้าง และโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ให้กับผู้ที่มีความเครียด นอนไม่หลับเรื้อรัง กลัวเกินเหตุ อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีเหตุผล มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ที่คิดลบกับตนเองตลอด ซึ่งการรักษาจะใช้ภาษาและดนตรีบำบัดเข้ามามีส่วนร่วม โดยจะใช้เพลงที่มีท่วงทำนองเหมาะสมสื่อนำให้ผู้ป่วยเข้าสู่โหมดคลื่นสมองเทต้า (Theta Brainwave) เนื่องจากคลื่นสมองเทต้า เป็นภาวะที่มนุษย์เราจะอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีการสะกดจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สามารถดำเนินต่อไปสร้างผลดีให้กับชีวิต เพราะถ้าหากเกิดความเครียดในระดับจิตใต้สำนึกและไม่ได้รับการบำบัดที่ต้นตอ ปัญหานั้นอาจส่งผลมากกว่าแค่ความเครียด มีผลกระทบกับชีวิตเรื้อรังเป็นความกดดัน มีปัญหาสุขภาพ และทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย การโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ นอกเหนือจากเพื่อบำบัดต้นตอของความเครียดที่ส่งผลกับปัญหาการปวดศีรษะแล้ว ยังสามารถทำเพื่อโปรแกรมชีวิตในมุมบวก ซึ่งจะมีผลอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น การพัฒนาศักยภาพการทำงาน, การสร้างความคิดให้เด็กรักในการเรียน
          แนวทางในการรักษาผู้ที่มีอาการปวดศีรษะทั้งในระดับจิตรู้สำนึกและระดับจิตใต้สำนึก สามารถนำ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาได้ โดยพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดนตรีบำบัด คือ การนำดนตรีหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้เพื่อปรับพัฒนา รักษา ด้านจิตใจ อารมณ์ ที่มีหลักการและหลักเกณฑ์ในแต่ละโหมดของสภาวะทางจิตใจ กับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดโดยไม่ต้องใช้ยา เพราะดนตรีก็เป็นเสมือนยาที่ได้จากการฟังเช่นเดียวกัน
          ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเลือกใช้ดนตรีบำบัดจากการฟังเพลงเพื่อรักษาผู้ป่วย เนื่องจากเป็นการบำบัดที่สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรี สามารถปฏิบัติได้ง่าย แค่คัดสรรให้คลื่นเสียงไปปรับคลื่นสมองให้สมดุล สำหรับคลื่นสมองของคนเราสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
          * คลื่นเบต้า (Beta Brainwave) อยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว แต่มีความเครียด หงุดหงิด
          *คลื่นอัลฟ่า (Alpha Brainwave) คืออยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว ผ่อนคลาย สบายใจ เช่น ช่วงที่สวดมนต์ นั่งสมาธิ
          * คลื่นเทต้า (Theta Brainwave) เป็นช่วงที่อยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น เช่น เวลาที่นอนหลับไม่สนิทและฝัน ขณะขับรถและมีหลับใน เป็นต้น
          * คลื่นเดลต้า (Delta Brainwave) เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด เกิดขึ้นในขณะนอนหลับ เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังพักผ่อนอย่างเต็มที่ หลับลึกโดยไม่มีความฝัน
          เพลงที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายและเพื่อให้นอนหลับได้สนิท แต่สิ่งสำคัญที่สุดของดนตรีบำบัดด้วยการฟังเพลง คือ การเลือกแนวเพลงจะต้องได้รับการคัดสรรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คลื่นเสียงของเพลงตรงกับคลื่นสมองที่ต้องการบำบัดและถูกต้องกับช่วงเวลาในการใช้ชีวิต
          - การฝังเข็ม- การดูแลตนเอง สามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การหาช่องทางบริหารและจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวาง นอนหลับให้สนิท หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้ปวดศีรษะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          ข้อมูลจาก ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com
 pageview  1204384    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved