Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/10/2557 ]
รู้ทันปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดอาการ'ท้องผูก'
 ปัจจุบันคนไทยมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบทำให้หลายคนละเลยความพิถีพิถันเรื่องอาหาร รวมถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง เป็นผลทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบ สุ่มเสี่ยงกับการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงภาวะ อาการท้องผูก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาการท้องผูกไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงละเลยให้ความสำคัญในการรักษา แต่อาการท้องผูกมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งอาจพบร่วมกับโรคลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวาร ไปจนถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
          รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์รั้งตำแหน่งนายกสมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ยาระบาย.สำหรับทุกคนในครอบครัว" ในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของผลิตภัณฑ์ "ดูฟาแลค" (Duphalac)" ถึงสภาวะของอาการท้องผูกว่า อาการท้องผูกเป็นปัญหาที่ 1 ใน 4 ของคนไทยต้องพบเจอ โดยอาการท้องผูก เป็นอาการถ่ายอุจจาระที่เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากอุจจาระอยู่ในสภาพที่แห้ง แข็ง เกิดความทรมานในการขับถ่าย หรือขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งพบได้ในคนทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยสัญญาณของอาการท้องผูกของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มท้องผูกในเด็ก โดย 5-10% ของเด็กจะมีปัญหาท้องผูก ซึ่งพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตสัญญาณความถี่ของการอุจจาระที่บ่งบอกว่าลูกท้องผูก คือการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่ออุจจาระแข็งจะทำให้เจ็บปวดเวลาเบ่งถ่าย หรืออาจมีเลือดติดออกมาด้วย เพราะเกิดแผลที่ผิวหนังบริเวณทวาร พอเจ็บเด็กก็ยิ่งกลัวการขับถ่าย จึงพยายามกลั้นเอาไว้ แต่นั่นยิ่งทำให้อุจจาระแข็งมากขึ้น
          กลุ่มที่สอง ท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องปกติที่แม่ตั้งครรภ์จะมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ลำไส้ทำงานไม่ปกติ ฉะนั้นโอกาสที่แม่ตั้งครรภ์จะท้องผูกก็เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้มดลูกของแม่ตั้งครรภ์ก็จะเริ่มโตขึ้นและไปกดหลอดเลือดใหญ่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในส่วนล่างของร่างกายช้าลง แม่ตั้งครรภ์จึงมีปัญหาท้องผูกได้บ่อย ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ ท้องผูกในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารได้น้อยลง บางคนรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ ดื่มน้ำน้อยลง มีภาวะของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน หรือประสาทการรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวในลำไส้น้อยลง รวมถึงกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่ายเสื่อมตามวัย ซึ่งการเบ่งอุจจาระมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
          การรักษาภาวะอาการท้องผูก บางคนอาจคิดว่าตนเองท้องผูกหากไม่ได้ขับถ่ายอุจจาระออกมาทุก ๆ วัน อย่างไรก็ตามการขับถ่ายมีความแปรปรวนไม่เหมือนกันในแต่ละคน ในคนไทยปกติจะมีการถ่ายเฉลี่ยจากวันละสามเวลาไปจนถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ การเข้าใจถึงสาเหตุการป้องกัน และการรักษาจะช่วยบรรเทาอาการนี้ลงได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยแนวทางรักษานั้นต้องดูตามอาการและสาเหตุของปัญหามีทั้งการรักษาอาการด้วยการใช้ยา เช่น ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนิ่ม ยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยาระบายชนิดสวน ยาระบายชนิดเหน็บ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิต อาทิ การดื่มน้ำ กินผักผลไม้ อาหารที่มีกากใยมาก ๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น รวมถึงการฝึกนิสัยการขับถ่ายเป็นเวลาให้ตัวเอง เป็นต้น.สนับสนุนข้อมูลโดย "ดูฟาแลค" (Duphalac)
 pageview  1204972    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved