Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 23/04/2557 ]
"รักลูกลำเอียง" ปมขัดแย้งในครอบครัว เรียนรู้...ป้องกันก่อนสายเกินแก้!
"ถ้ามองเห็นแนวโน้มว่าพี่น้องเริ่มอิจฉากันเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของพี่น้องที่ต้องมีการแข่งขันกัน ให้พ่อแม่พยายามหาจุดเด่นของแต่ละคนออกมาและสนับสนุนให้เขารู้สึกดีว่าอีกฝ่ายทำไม่ได้ ไม่ใช่จับให้ทำอะไรเหมือนกัน ในขณะที่อีกคนทำไม่ได้จะรู้สึกเป็นปมด้อยอาจเกิดปัญหาตามมาได้"
          เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบ ครัวยังคงมีให้เห็นเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผัวเมียฆ่ากันตาย พ่อแม่ฆ่าลูก รวมถึงเหตุสะเทือนขวัญลูกฆ่าพ่อแม่พี่น้องยกครัว 2 คดีติดกันที่ผ่านมาไม่นานนี้ด้วย สร้างคำถามหลายแง่มุมให้เราต้องขบคิดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย แล้วทางออกในการป้องกันแก้ไขปัญหาอยู่ที่ไหน.?!
          แพทย์หญิงยศมน มณีสว่างวงศ์จิตแพทย์ประจำศูนย์วัยรุ่น โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า ความรุนแรงภายในครอบครัว หมายถึง ลักษณะการกระทำดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับคู่สมรส คู่ร่วมชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ หรือคนภายในครอบครัว โดยจะมีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเสมอ มีหลายคนเข้าใจว่าความรุนแรง คือการกระทำที่ละเมิดหรือทำร้ายผู้อื่นทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สามารถแบ่งการกระทำ หรือล่วงละเมิดออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 1. การทารุณกรรมหรือล่วงละเมิดทางกาย (physical abuse) คือ การกระทำใดก็ตามที่ล่วงละเมิดผู้อื่นให้ได้รับอันตรายทางร่างกาย
          2. การทารุณกรรมหรือล่วงละเมิดทางวาจา (verbal abuse) คือ การใช้คำพูดในลักษณะกล่าวหา ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ ขู่เข็ญ ข่มขู่ หรือก้าวร้าวขึ้นเสียง ไม่ว่าจะในที่สาธารณะ หรือส่วนตัว จนทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความรู้สึกหวาดหวั่น กลัว เขินอาย หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัย 3.การทารุณกรรมหรือล่วงละเมิดทางด้านจิตใจ (emotional abuse) คือ การกระทำรวมถึงคำพูดที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกทุกข์ทรมานทางใจ ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ การทำให้หวาดกลัว การเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือให้แยกจากสังคม และการเอาเปรียบ และ 4. การทารุณกรรมหรือล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse) คือ การกระทำที่ละเมิดทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำถูกบังคับ หรือขืนใจ
          คนส่วนใหญ่มักจะรับรู้และให้ความสำคัญกับการกระทำที่เป็นการทำร้ายร่างกายรวมไปถึงทางเพศ โดยลืมไปว่าจริง ๆ แล้วยังมีลักษณะของการกระทำในลักษณะของการล่วงละเมิดทางวาจาและจิตใจ ซึ่งดูเสมือนรุนแรงน้อยกว่า เพราะไม่เห็นผลลัพธ์ของการ กระทำเป็นรูปธรรม แต่จริง ๆ แล้วลักษณะดังกล่าวได้ถูกแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของใครหลาย ๆ คนโดยไม่รู้ตัว และทำให้ผู้ถูกกระทำเหล่านั้นเกิดภาวะตึงเครียด มองตัวเองในแง่ลบ ขาดหรือสูญเสียความมั่นใจในตนเอง ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง
          ตามทฤษฎีการเจริญพัฒนาทางความฉลาดและการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กสามารถที่จะรับรู้ถึงความรัก ความอบอุ่นได้ตั้งแต่แรกเกิด (0-3 เดือน) โดยสามารถรับรู้ได้จากการสัมผัสผ่านทางกายเป็นหลัก ต่อมาภายในขวบปีแรก เด็กจะค่อย ๆ รับรู้ถึงเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น แต่เป็นอย่างหยาบ เช่น สามารถรับรู้ เลียนแบบสีหน้าได้ เช่น ยิ้มกับคนที่มายิ้มด้วย แลบลิ้น อ้าปาก เป็นต้น แต่ไม่เข้าใจความหมายของการกระทำที่แท้จริง เป็นแค่การเลียนแบบพฤติกรรมเท่านั้น ต่อมาเมื่อเข้าใกล้ 1 ขวบ เด็กจะสามารถเลียนแบบกิริยาท่าทางและเชื่อมโยงความคิดเข้ากับการ กระทำอย่างง่าย ๆ ได้ เช่น ยกมือสวัสดี โบกมือบ๊ายบาย เป็นต้น
          และในช่วง 2-7 ขวบ เริ่มมีพัฒนาการทางด้านภาษามากขึ้น เริ่มจะสื่อสารและเข้าใจได้มากขึ้น แต่การรับรู้และความคิดยังเป็นลักษณะง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน จนกระทั่งมาถึงช่วง 7-12 ขวบ เด็กจะเริ่มเข้าใจกฎเกณฑ์ มีเหตุผลมากขึ้น เข้าใจเชิงรูปธรรม และในที่สุดเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่จะเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีเพิ่มขึ้น และมีความคิดเป็นนามธรรมมากขึ้นตามลำดับ
          ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นภายในครอบครัว เด็กสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกของชีวิต ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ สังคมของเด็ก ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในทุกช่วงวัย จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ส่งผลระยะยาวตลอดช่วงชีวิตของคนคนนั้น และนำพาไปสู่วงจรของความรุนแรงในครอบ ครัวรุ่นถัดไป
          สำหรับปัญหาในครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน แล้วลูก ๆ รู้สึกว่าพ่อแม่รักไม่เท่ากันหรือรักลำเอียงจึงอิจฉากัน เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในสังคม ซึ่งล่าสุดมีเหตุการณ์พี่น้องอิจฉากันเองจนนำไปสู่เหตุการณ์น่าสลดใจเกิดขึ้นติดต่อกันถึง 2 ครอบครัว นับเป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องร่วมกันหาทางป้องกันก่อนสายเกินแก้ ซึ่งจุดเริ่มอยู่ที่พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัย 2-3 ขวบแล้วเริ่มตั้งครรภ์มีสมาชิกใหม่ในครอบครัว ทำให้ต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษทำให้ลูกคนโตรู้สึกเหมือนถูกแย่งความรัก ส่วนหนึ่งเป็นจริงเพราะพ่อแม่คิดว่าลูกโตแล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
          แต่ถ้าเรารู้สึกว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น พฤติกรรมย้อนวัย เช่น เคยมีพัฒนาการที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนสะท้อนความรู้สึกของลูกออกมาว่าอยากกลับไปเป็นเด็กเล็กให้พ่อแม่ดูแลให้เราถามลูกตรงๆ เลยว่ากลัวพ่อแม่ไม่รักใช่ไหม เพราะเด็กวัยนี้ภาษาพูดยังไม่ดีจึงแสดงพฤติกรรมออกมาแทน ดังนั้นพ่อแม่จึงควรทำทุกอย่างที่เคยทำให้ลูกเหมือนเดิม เช่น เวลากินข้าวก็ชวนมากินด้วยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เขากินคนเดียว ส่วนพ่อแม่หันมาสนใจป้อนข้าวน้อง รวมทั้งชวนเขาให้ช่วยป้อนข้าวน้องพร้อมกับสอนว่าน้องยังเล็กช่วยตัวเองไม่ได้ เพียงเท่านี้ก็จะลดปัญหาพี่อิจฉาน้องลงได้
          ต่อมาเป็นอีกช่วงวัยหนึ่งที่เด็กจะมีความคิดเป็นของตัวเอง ถ้าเราเห็นแนวโน้มว่าพี่น้องเริ่มอิจฉากันเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของพี่น้องที่ต้องมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ให้พ่อแม่พยายามหาจุดเด่นของแต่ละคนออกมาและสนับสนุนให้เขารู้สึกดีว่าอีกฝ่ายทำไม่ได้ ไม่ใช่จับให้ทำอะไรเหมือนกัน ในขณะที่อีกคนทำไม่ได้จะรู้สึกเป็นปมด้อยอาจเกิดปัญหาตามมาได้ อีกปัญหาหนึ่งที่ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษคือช่วงเวลาที่ลูกทะเลาะกันถึงขั้นลงมือลงไม้ให้พยายามแยกกันไปอยู่คนละมุมเพื่อสงบสติอารมณ์ เพราะความโกรธแบบนี้มักมาไวและไปไว เมื่ออารมณ์ดีแล้วค่อยพูดจาไกล่เกลี่ย รวมทั้งตั้งกฎเกณฑ์ข้อตกลงร่วมกันใหม่ว่าถ้ามีปัญหาลักษณะแบบนี้อีกจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งหมดแต่ละฝ่ายต้องยอมรับได้
          อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัญหาของการรักลูกลำเอียงนั้นบางครอบครัวเป็นจริง ๆ แต่อาจไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยคนรอบข้างคอยเตือน หรือบางครั้งอาจจะเห็นปัญหาเองจึงจะนึกระวังตัว แต่หากทราบแบบนี้แล้วก็ให้พ่อแม่ค่อย ๆ ปรับตัวไปพร้อมกับการเข้าใจพัฒนาการของลูก ๆ แต่ละช่วงวัย เพราะบางครั้งการที่มีลูกหลายคนพ่อแม่อาจจะมีเวลาให้ลูก ๆ ไม่เต็มที่ แต่ถ้ารู้สึกว่าลูกมีปัญหากันเองต้องการความช่วยเหลือควรแบ่งเวลามาให้ได้ไม่เช่นนั้นจะเป็นการปิดกั้นลูก ๆ เพราะพ่อแม่เป็นคนกลางต้องเปิดอกรับฟังพร้อมให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะสายเกินแก้
          สุดท้ายพ่อแม่เองสามารถเป็นต้นแบบให้ลูก ๆ รักกันได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันให้ลูกเห็น รวมทั้งสอนในเรื่องของการแบ่งปัน ไม่ว่ากล่าวลูกคนใดคนหนึ่งลับหลังให้อีกคนหนึ่งฟัง สร้างความรักและความสามัคคีในครอบครัว เพียงแค่นี้ก็จะลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลงไปได้.
          3ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว
          1.ตัวบุคคลเอง สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ เช่น มีโรคที่มีพยาธิสภาพทางสมองเกี่ยวเนื่องกับสมองด้านควบคุมอารมณ์ เช่น ลมชัก เนื้องอกในสมอง โรคทางด้านที่เกี่ยวกับพัฒนาการที่ล่าช้า เช่น ปัญญาอ่อน ออทิสติก โรคสมาธิสั้น ที่มักจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ เพราะมักจะมีลักษณะหุนหันพลันแล่น ไม่คิดก่อนทำ โรคทางจิตเวชบางอย่างที่ทำให้ความสามารถในการควมคุมอารมณ์ การคิด และการตัดสินใจบกพร่อง ลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติ มีประสบการณ์ในชีวิต เช่น เป็นผู้เห็นความรุนแรง หรือ ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงนั้น ซึ่งเมื่อติดตามไปพบว่าคนเหล่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นผู้กระทำเอง เมื่อโตขึ้น และการใช้สารเสพติด ทำให้ขาดสติ และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำลง
          2. ครอบครัว บิดา มารดา มีทัศนคติที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของครอบครัว ซึ่งทำให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่างว่าการกระทำนี้ได้ผล และเรียนรู้ที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเมื่อโตขึ้นต่อไป โดยเคยชินกับการกระทำดังกล่าว และไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ บิดา มารดาอายุน้อยหรือขาดวุฒิภาวะ ขาดทักษะในการเลี้ยงดูบุตร ขาดความเข้าใจในพัฒนาการช่วงวัยของลูก ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่น ละมุนละม่อมได้และมักใช้ความก้าวร้าว รุนแรงในการควบคุมลูก ซึ่งทำให้ลูกไม่สามารถเรียนรู้เรื่องของการจัดการกับอารมณ์ได้ จึงทำให้ขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ และเกิดปัญหาตามมา
          3. สิ่งแวดล้อม "สังคม" กล่าวคือสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมบ่อยครั้ง โดยปัญหานั้นไม่ได้ถูกแก้ไข ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ หรือเป็นมาตรฐานของสังคม ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และเพิกเฉยต่อความรุนแรงนั้น "เศรษฐกิจ" ปัญหาความยากจน ทำให้เกิดความตึงเครียดในครอบครัวและอาจนำมาซึ่งความรุนแรงในครอบครัวและ "สื่อ"ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก เด็กมีแนวโน้มที่จะสื่อสารผ่านสื่อ ถูกล่อลวงจากสื่อ หรือแม้กระทั่ง พฤติกรรมเลียนแบบภาพยนตร์ หรือละครที่มีความก้าวร้าวรุนแรง หากขาดคำแนะนำที่ดี หรือการเอาใจใส่ดูแลจากผู้ปกครอง
 pageview  1205083    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved