Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/02/2555 ]
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ห่างไกลโรคหัวใจ...สุขภาพดี

         ทีมวาไรตี้

          ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลแห่งความรัก นอกเหนือจากการมอบความรักให้แก่ผู้อื่นแล้วก็ต้องไม่ละเลยดูแลหัวใจของตนเองร่วมด้วย
          โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากจะเป็นปัญหาคร่าชีวิตผู้ป่วยอย่างมากมายในแต่ละปีแล้ว ที่ผ่านมายังมีโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคหัวใจพิบัติ อัมพาต มะเร็ง โรคปอดเรื้อรังและโรคเบาหวาน ที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปก่อนวัยอันควรเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 60-80 โดยประเทศไทยพบว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว
          ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงพบมีอยู่หลายด้าน แต่ปัจจัยที่กล่าวกันถึง 10 ประการแรกมีในเรื่องของบุหรี่ ความดัน ไขมัน เบาหวานตามด้วย อ้วน เครียด เกลือ น้ำตาลและการไม่ออกกำลังกายซึ่งพบว่าเป็นปัจจัยที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งยังมีปัจจัยที่มาสร้างเสริมที่แก้ไขได้และแก้ไม่ได้อย่างเรื่องของพันธุกรรม
          พญ.คุณสวรรยา เดช อุดม ประธานฝ่ายวิชาการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ความรู้ว่า การปรับเปลี่ยนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำร้ายหัวใจ นอกจากจะช่วยดูแลรักษาหัวใจแล้วยังช่วยในเรื่องของโรคเบาหวานซึ่ง การรักษาหากให้หมอรักษาเพียงอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา ผ่าตัดตกแต่งหลอดเลือดทำบัลลูน ฯลฯ การรักษาจะต่อชีวิตได้ 7 ปี แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายเหล่านี้ลดลงก็จะต่อชีวิตยืนยาวอีก 3 เท่า
          การปรับเปลี่ยนพฤติ กรรมหากพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในเรื่องอาหาร การออกกำลังกายและอารมณ์ ในเรื่องอาหารนั้นอาจยึดหลักการทานอาหารที่ พอเหมาะ พอดี พอเพียงและพอใจ อาหารส่วนใหญ่นั้นไม่มีโทษแต่หากทานมากเกินไปก็อาจกลายเป็นโทษได้ อย่างไขมันก็ต้องมีความพอดีและรู้หลักเลือกบริโภค
          คาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง หากเป็นข้าวเลือกทานข้าวซ้อมมือซึ่งมีใยอาหารอยู่มาก อาหารสำเร็จรูปมักไม่มีกากใย ส่วนโปรตีนควรเป็นเนื้อขาวไม่ใช่เนื้อแดง เลือกเนื้อปลา เนื้อไก่ที่ไม่ติดมัน ฯลฯ และจาก โครงการอาหารไทยหัวใจดี ในความพอเหมาะอาจสังเกตตราสัญลักษณ์อาหารรักษ์หัวใจ รูปหัวใจติ๊กถูกซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากมูลนิธิฯ อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณลักษณะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมนำไปติดที่ผลิตภัณฑ์
          ส่วน พอดี สิ่งนี้เป็นความเพียงพอต่อตัวเราซึ่งการใช้พลังงานผู้ชาย ผู้หญิง ผู้สูงอายุจะไม่เท่ากัน ปริมาณที่ผู้หญิง เด็กและผู้สูงอายุควรได้รับ 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน, ผู้ชาย 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเป็นรูปธงโภชนาการไว้โดยกำหนดเป็นทัพพี อย่างเช่น ปริมาณอาหารที่ควรบริโภคใน 1 วันสำหรับเด็ก ผู้หญิงและผู้สูงอายุ ข้าว-แป้งวันละ 8 ทัพพี, ผักสุกวันละ 4 ทัพพี, ผลไม้วันละ 3 ส่วน (1 ส่วนประมาณ 6 คำ), เนื้อสัตว์วันละ 6 ช้อนกินข้าว, นมหรือน้ำเต้าหู้วันละ 1-2 แก้ว, น้ำมัน น้ำตาลและเกลือวันละน้อย ๆ เป็นต้น
          โรคหัวใจจากหลอดเลือด หัวใจตีบ-ตัน ปัญหาสำคัญของประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งในประเทศไทยซึ่งมีสถิติคนเป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันด์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธรในขณะนั้นกล่าวว่า โรคหัวใจกำลังกลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทวีความรุนแรง หากประชาชนทั่วไปไม่รู้
          จักวิธีการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมา มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับโรงพยาบาลยโสธร ได้จัดโครงการหัวใจสัญจรขึ้นเพื่อทำการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่จำนวน 10 ท่าน นำโดย ศ.นพ.ปริญญา สากิยลักษณ์ นำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นเครื่อง Echo ให้บริการซึ่งเป็นประโยชน์อย่างสูง ทั้งแก่ผู้ป่วย รวมถึงแพทย์โรงพยาบาลยโสธรที่ดูแลผู้ป่วยโดยโรงพยาบาลยโสธร ได้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์หน้าอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีผู้ผ่านการคัดกรอง 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจอายุรกรรมจำนวน 90 ราย, ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ จำนวน 40 ราย , ผู้ป่วยหลังผ่าตัดลิ้นหัวใจและศัลยกรรมหัวใจ จำนวน 40 ราย รวมทั้งสิ้น 170 รายที่เข้ารับการตรวจรักษา
          ศ.นพ.ปริญญา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหัวใจยากไร้จะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดและได้รับการดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ก็ยังมีผู้ป่วยโรคหัวใจยากไร้อีกจำนวนมากที่ยังรอคิวผ่าตัดเป็นเวลานาน
          เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 80 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และ 60 พรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปีพุทธศักราช 2555  มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงจัด "โครงการผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 225ราย"ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดหัวใจเร็วขึ้น โดยการผ่าตัดจากทีมแพทย์นอกเวลาราชการ ในการนี้จะมีค่าใช้จ่ายการผ่าตัดรายละ 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน).
          มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงขอเชิญชวนร่วมบริจาคตามจิตศรัทธาเพื่อสมทบทุนใน
          "โครงการผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 225 ราย-มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยฯ"
          โดยนำเข้าบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขารพ.กรุงเทพ เลขที่บัญชี 196-2-12335-0
          ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 041-0-10697-6 ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 153-4-16826-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 043-272076-3 ส่งแฟกซ์สำเนาใบโอนเงิน พร้อมทั้งแจ้งชื่อ-ที่อยู่ในการจัดส่งใบเสร็จรับเงิน (เงินบริจาคดังกล่าวสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง) มาที่ โทรสาร 0-2716-5813  เพิ่มเติมรายละเอียดสอบถามได้ที่ 0-2716-6658, 0-2716-6843
 
          บรรยายใต้ภาพ
          พญ.คุณสวรรยา เดชอุดม
          ศ.นพ.ปริญญา สากิยลักษณ์
 pageview  1205004    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved