Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/12/2556 ]
วาระสุดท้ายไปอย่างไรให้เป็นสุข
    ทันทีที่ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับรู้รับทราบว่าญาติพี่น้องตนอยู่ในระดับของ "ผู้ป่วยระยะสุดท้าย" อยู่ในสภาพใกล้ตายส่วนใหญ่ทำใจรับความจริงที่จะเกิดไม่ได้ ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานและโศกเศร้า ครั้นเมื่อทำใจรับได้แล้ว วิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ของบุคลากรการแพทย์และของญาติ ยังไม่ได้วางมาตรฐานไว้อย่างถูกวิธี บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วย ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในสภาพเหมือนตายทั้งเป็น
          ความห่วงใยนำสู่ข้อถกเถียงในแวดวงวิชาการ จนมีการผลักดันนโยบายระดับชาติ เพื่อใช้ในการปฏิบัติกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. หน่วยงานด้านนโยบายสุขภาวะของชาติ ที่เป็นหัวหอกที่สำคัญในการหยิบยกแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มาบรรจุในนโยบายด้านสุขภาวะของคนไทยทั้งประเทศ โดยมอบหมายคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็น จัดระดมความคิดของทุกภาคส่วน ให้ตกผลึกมาเป็นร่างแผนปฏิบัติ เพื่อนำสู่การผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ
          หลักการที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติค้นพบคือ จากความพยายามที่จะปฏิเสธความตายของมนุษย์ และการที่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเลือกและวางแผนการตายล่วงหน้าได้ ความหวังดีของญาติด้วยการยื้อชีวิตผู้ป่วยหวังให้เกิดปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ ตรงข้ามยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน จากเครื่องมือกู้ชีพต่าง ๆ ทั้งการเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจ
          เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็น ได้จัดการประชุม"แผนยุทธศาสตร์ ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต"  ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในแผนยุทธศาสตร์ ก่อนเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
          นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ ฉบับนี้ได้ผ่านการระดมความเห็นและประชาพิจารณ์ เมื่อเดือน ม.ค. จนตกผลึกมาเป็นข้อสรุป ที่จัดทำมาเป็นคู่มือการดูแลผู้ป่วยขั้นสุดท้ายอย่างประคับประคอง เตรียมจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือน ธ.ค. เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ทั้งบุคลากรในแวดวงสุขภาพ จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม และสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตร
          ขณะที่แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้ให้ความเห็นในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผ่านการเสวนา เรื่อง "จากไป...ด้วยหัวใจมีสุข" ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความตายเป็นแพ็กเกจหนึ่งของชีวิต ที่เราทุกคนหลีกเลี่ยง ไม่ได้ แต่ความตายจะน่ากลัวหรือไม่อยู่กับใจของคนคนนั้น ที่สำคัญต้อง
          คิดว่าความตายเป็นเรื่องของความจริงที่ทุกคนต้องประสบ จึงจะไม่อยู่อย่างตายทั้งเป็น ซึ่งน่ากลัวมากกว่าความตายเสียอีก
          จากประสบการณ์ในการเดินทางไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 200 โรงพยาบาล ใน 65 จังหวัด เพื่อให้ได้เรียนรู้จากผู้ป่วย ให้ทราบถึงสัจธรรมแห่งชีวิตที่แท้จริง พบว่าความกลัวตายนั้น น่ากลัวกว่าความตายเสียอีก ผู้ป่วยบางรายที่ได้ประสบพบพาน บางคนเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่กลับสามารถทำใจเข้าถึงสัจธรรมความจริงเรื่องนี้ได้อย่างน่ายกย่อง
          "ผู้ที่ใกล้ตาย หรือผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ครอบครัวคือหัวใจสำคัญในการเยียวยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยากกลับไปตายที่บ้าน อยากกลับไป อยู่กับสิ่งที่ตัวเองเคยมีความสุข ดังนั้นหากจะมีการสร้างหลักเกณฑ์ใน การปฏิบัติขึ้นให้เท่าเทียมกัน ควรมีการเน้นไปที่การดูแลโดยบุคคล ในครอบครัวให้มากที่สุด เพราะครอบครัวควรเป็นเหมือนสถาบันใน การเรียนรู้เรื่องความตาย และการเยียวยาทางจิตใจของคนใกล้ตาย พ่อแม่เองควรต้องสอนลูกให้ตระหนักถึงความตาย เพื่อให้เวลาที่เหลืออยู่ใน
          ชีวิต เป็นเวลาที่อิ่มเอม ไม่ใช่เวลาของความหวาด ระแวง"
          "สำหรับชาวพุทธการดูแลผู้ป่วยระยะสุด ท้ายเป็นงานชั้นเลิศ ที่บอกให้เราได้รู้ถึงสัจธรรม และพบว่าความตายนั้นมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่เราคิด จิตของคนใกล้ตายและพร้อมที่จะหลุดพ้น มีความกตัญญู และสามารถสื่อสารกับคนเป็นได้ โดยไม่ต้องใช้คำพูด จากประสบการณ์ อย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ได้พบการสื่อสารจากผู้ป่วยที่ใกล้จะตายไปถึงคนในครอบครัว แม้ฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนที่ใกล้ตายนั้น บางครั้งก็สามารถยอมรับในสิ่งที่จะเกิด และพร้อมที่จะบอกกับคน ใกล้ชิดว่า พวกเขาพร้อมแล้วเพื่อไม่ให้ต้องเป็นทุกข์" แม่ชีศันสนีย์ กล่าว
          เช่นเดียวกับความเห็นของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ความตายนั้นอยู่ในความคิดของคนทุกคน มนุษย์ทุกคนกลัวตาย แต่ชีวิตจะมีความสุขได้ต่อเมื่อความตายเป็นความหมายที่งดงามของชีวิต ในเวลาที่เรากลัวตาย ความกลัวจะแผ่ไปยังคนรอบข้างด้วย ทำให้เป็นทุกข์ตามไปด้วย หากคนรอบข้างผู้ป่วยไม่ตื่นตระหนกเกินไป ก็จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ดี การเตรียมตัวที่จะตายนั้นเป็นวัฒนธรรมเดิมในสังคมชาวพุทธ ที่อาจถูกลบเลือนไป เราควรคืนความหมายนี้สู่สังคม ด้วยระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
          โดยอยู่บนพื้นฐานของคติที่ว่า "ไม่รักชีวิตจนกลัวตาย แต่ ไม่อยากตายจนเบื่อหน่ายชีวิต".
 pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved