Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 11/11/2556 ]
ไข้หวัดใหญ่ ใหญ่จริงในผู้สูงอายุ
  เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายมักจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำอันตราย ก็จะทำงานได้น้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น นำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่รุนแรง
          ผู้สูงอายุมีโอกาสเจ็บป่วย หรือเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้มากกว่าคนหนุ่มสาว มีข้อมูลการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดปอดบวมจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 11 เท่า
          ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ง่าย ผ่านทางการไอ จาม หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน
          ทุกคนมีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทางเดินหายใจ แต่จะส่งผลต่อทั้งร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ
          ความรุนแรงของโรคมักขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน แต่ในกรณีของผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนสูง เช่น ติดเชื้อไซนัส หรือหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตสูงถึง 50%
          มีข้อมูลจากต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 88 ของผู้ที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ คือผู้สูงอายุ
          แพทย์หญิงพัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า "ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีไข้สูง แต่สำหรับผู้สูงอายุอาการจะไม่ตรงไปตรงมาเหมือนคนหนุ่มสาว คือมักพบว่าจะมีอาการซึมลง ทานอาหารได้น้อย มาตรวจพบทีหลังว่าเป็นไข้หวัดใหญ่"
          สำหรับสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ ภาพรวมในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึง 27 ตุลาคม จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ 37,129 ราย
          และจากการเก็บข้อมูลโรคปอดบวม ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน 2556 พบผู้ป่วยสูงถึง 6,037 ราย โดยร้อยละ 70 เป็นผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก
          เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และจะมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
          แต่เนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่า การตอบสนองต่อวัคซีนก็จะด้อยกว่าคนวัยหนุ่มสาว ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีน เข็มเล็กฉีดเข้าผิวหนัง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า แม้จะอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยว่าการที่ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น จะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้ จริงหรือไม่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคต อาจมีการเลือกใช้วิธีฉีดวัคซีนเข็มเล็กให้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ กันมากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุรับรู้ และตื่นตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
          "ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงฟรีปีละ 3.5 ล้านโดส แต่ผู้สูงอายุบ้านเรามีประมาณ 8 ล้านกว่าคน และยังมีคนกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง เด็กเล็ก สรุปว่ามีผู้ป่วยไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงวัคซีน ขณะที่ต่างประเทศมีการเข้าถึงวัคซีนสูงถึง 60-70%" แพทย์หญิงพัณณิดากล่าวสรุป.
 pageview  1205359    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved