Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/11/2556 ]
มี'ปัญญา'เปลี่ยน'ทุกข์'เป็น'สุข'

 

  เมื่อ 'ความไม่เที่ยง' คือ 'สัจจะ' แห่งการดำรงอยู่ ความสุข ความทุกข์ หมุนเวียนวนอยู่ในชีวิต ผลัดเปลี่ยนมาให้แต่ละคนได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความรู้สึกเหล่านี้ เราอาจต้องทบทวน 'หัวใจ' ในการใช้ชีวิตกันอีกครั้งว่า จะอยู่อย่างไรเมื่อสุขดับและทุกข์เกิด ขณะเดียวกันยามไร้ทุกข์และมีสุข จะอยู่อย่างมี 'สติ' ไม่มัวเมาได้หรือไม่... เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เสมสิกขาลัย จัดกิจกรรม "กลับทุกข์ กลับสุข" เพื่อภาวนาเรียนรู้ทบทวนชีวิต และหาหนทางคลี่คลายทุกข์ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต บรรยายธรรมว่า คนเราทุกข์ก็เพราะว่าสร้างทุกข์ทับถมความทุกข์ที่มีอยู่เดิม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีแต่ประการใด หากแต่สิ่งที่ควรกระทำก็คือ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรให้ดับไปเร็วที่สุด ไม่เอาใจไปแบกรับกับความทุกข์นั้น ๆ และพยายามปล่อยให้ทุกข์ที่ผ่านมานั้นผ่านไป อย่าไปเก็บกักดักอารมณ์เหล่านั้นหมักหมมไว้ในจิตวิญญาณของเรายาวนานนัก ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าเรามีชีวิตที่ไม่สามารถพัฒนาตนไปสู่จิตวิญญาณที่โปร่งใสแจ่มใสได้เลย "ความสุขที่แท้จริงเกิดจากข้างในจิตใจของคนเรา และถ้าจิตใจเต็มไปด้วยอารมณ์อันตรายต่าง ๆ ความสุขก็จะเกิดขึ้น
          ได้ยากยิ่ง เพราะความสุขนั้นมักเกิดขึ้นท่ามกลางความสงบเสมอ มนุษย์เราส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ทุกข์เพราะทุกข์เพียงชั้นเดียว แต่ไปสร้างทุกข์ทับถมทุกข์ที่มีอยู่แล้วเสียมากกว่า" วิธีหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ทุกข์ นั่นคือ การมีปัญญา หมายถึงความเข้าใจในความจริงของชีวิต จนเห็นว่าทุกข์ทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ ความแก่ ความพลัดพรากสูญเสีย หรือความตาย เพราะสังขารทั้งหลายเป็นเช่นนั้นเอง ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง มีความขัดแย้งข้องขัดอยู่เป็นนิจ รวมถึงมีความพร่องไม่สมบูรณ์อยู่เสมอ  ซึ่งคนที่มีปัญญาเห็นความจริงเช่นนี้ ย่อมไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ว่าต้องเป็นสุขหรือต้องเป็นได้ดั่งใจตน  "การหมั่นพิจารณาชีวิตทั้งกายและใจ ตลอดจนความเป็นไปของโลกอย่างมีสติอยู่เสมอ จะทำให้เราตระหนักชัดว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จึงวางใจเป็นกลางต่อทุกสิ่ง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ๆ แต่รู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ตามเหตุตามปัจจัยโดยไม่เป็นทุกข์เพราะมัน" พระไพศาล วิสาโล กล่าว ฉัตรกมล อนุสาร หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม อายุ 54 ปี กล่าวถึงแง่คิดที่ได้จากกิจกรรมครั้งนี้ว่า ธรรมชาติคนเราเวลามีความเจ็บปวดก็จะพยายามผลัก พยายามปฏิเสธ พยายามดิ้น เวลา
          กายเหนื่อย เวลากายปวด กายจะผลักไสความเจ็บปวดออกไป แต่มันไม่ยอมไป  'หากเราดำเนินชีวิต ทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานด้วยความใส่ใจ โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ทำงานให้เสร็จหรือให้ดีเท่านั้น หากยังถือว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจหรือขัดเกลาตนเองไปด้วย เช่น ฝึกให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ลดละความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะ
          เมตตากรุณา ก็จะเป็นการเปิดทางให้ปัญญาเข้ามาแทนที่อัตตา นั่นหมายความว่าเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา หรือพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา เราก็สามารถรับมือกับมันได้โดยไม่ทุกข์" "ชีวิตของคนเรานั้นไม่ยืนยาวนัก เราสามารถหาความสุขให้ตัวเองได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องมุ่งหวังยามแก่เฒ่า ค่อยอยู่อย่างสงบสุขอย่างที่หลายคนเชื่อกัน เชื่อเถอะเราจะสามารถมีความสุขที่สุดในโลกได้ในตอนนี้ ถ้าเราเริ่มจากตัวเราเอง" ไพโรจน์ พงศ์ภราดร วัย 34 ปี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกคน ดังนั้น หากเราสามารถดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการมี 'สติปัญญา' รู้เท่าทันได้ ไม่ว่า 'ทุกข์ หรือ สุข' จะมาทักทายชีวิต นั่นก็คงจะไม่ใช่ 'ปัญหา' อีกต่อไป เพราะสิ่งต่างนั้น ๆ ล้วนอยู่กับเราไม่นานนัก...
 
 pageview  1205185    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved