Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 31/05/2556 ]
แพทย์เตือน!ความดันโลหิตสูงเพชฌฆาตที่อย่ามองข้าม

 นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด รวมทั้ง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูง จะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย จึงเรียกโรคนี้กันว่า "เพชฌฆาตเงียบ"  โดยในแต่ละปีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคนี้ เกือบ 8 ล้านคน ส่วนประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ ในจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 ไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง  ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นเพราะไม่ได้รับการรักษา สำหรับวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูง นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ยังสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป คือ การลดน้ำหนัก โดยให้ดัชนีมวลกาย เท่ากับ 18.5 ถึง 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร การรับประทานอาหารประเภท ผัก ผลไม้ ให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว การจำกัดเกลือในอาหาร โดยให้รับประทานเกลือโซเดียม ให้น้อยกว่า 6 กรัม ต่อวัน ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว ๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน การลดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
          นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า ความดันเลือดสูงเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีอาการอะไร คนส่วนน้อยอาจปวดหัวบริเวณท้ายทอยได้บ้าง คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ความดันเลือด 140/90 มม.ปรอท เป็นค่าปกติ จริง ๆ คือ เป็นค่าที่ "ต้องรักษา" แล้ว ดังนั้น การตรวจหาความดันเลือดสูงเป็นประจำ มีส่วนช่วยให้พบโรคได้ตั้งแต่แรก ๆ ซึ่งถ้าเราได้มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนในการใช้ชีวิต เช่น นอนให้พอ ลดเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฯลฯ จะช่วยป้องกันโรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดช้าลง.

 pageview  1205156    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved