Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 16/08/2564 ]
บุษราคัม โรงพยาบาลสนามต้นแบบการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด

  นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา ที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดโรงพยาบาล "บุษราคัม" ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่เกือบ 4,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยเฉพาะที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง กลุ่มสีเหลืองมาดูแลรักษา ทั้งจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามและสายด่วนต่างๆ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลในเขต กทม. มีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
          ตั้งแต่โรงพยาบาลบุษราคัม เปิดบริการมากว่า 3 เดือน มีเจ้าหน้าที่จากทั่วประเทศ ทั้งแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พยาบาล เภสัชกร ผู้ช่วยเหลือคนไข้ นักรังสีแพทย์ พนักงานเปล พนักงานขับรถ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงานแล้วมากกว่า 1,800 คน รวมถึงทีมรับส่งต่อผู้ป่วย โดยจัดระบบการปฏิบัติงานของแพทย์และพยาบาล เข้าไปให้การรักษาวันละ 5 รอบ ซึ่งถือว่าเป็นภาระงานที่หนักมาก แต่ทุกคนก็สู้ไม่ถอย หลายคนเมื่อกลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดในจังหวัดของตนเอง ต้องไปกักตัวต่ออีก 14 วัน กว่าจะได้พบหน้าครอบครัว เรียกว่าทุกคนต้องเสียสละความสุขสบายส่วนตัว และการมาทำงานที่นี่ก็มาด้วยความสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังความสามารถ
          โรงพยาบาลบุษราคัมเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่ที่สุดที่ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด 19 นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาได้รับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 แล้วมากกว่า 17,000 ราย กลับบ้านแล้วมากกว่า 11,000 ราย ยังมีผู้ป่วยที่รักษาอยู่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ในแต่ละวันมีผู้ป่วยโควิด 19 เข้าออกโรงพยาบาลมากกว่า 100 ราย ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ในการดูแลผู้ป่วย แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกคนยังคงทำงานอย่างหนัก ยังไม่มีวันหยุด ดูแลผู้ป่วยอย่าง ละเอียด ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมสรรพกำลังที่มี ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ด้านการแพทย์ ทั้งรถเอกชเรย์ เครื่องช่วยหายใจ ห้องตรวจปฏิบัติการ ยาสำคัญ อุปกรณ์ทางการแพทย์ มาประจำไว้ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อย่างครบครัน
          ล่าสุดได้ตั้งไอซียูสนามแยกดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ขนาด 17 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน รอส่งต่อไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง โดยแบ่งเป็นหอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) 13 เตียง และห้องแยกความดันลบ 4 ห้อง พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ มาตรฐานเดียวกับไอซียูในโรงพยาบาล ดูแลโดยทีมแพทย์เชี่ยวชาญและพยาบาลไอซียูจากต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อลดการส่งต่อ และลดการรอคิวเตียงไอซียูของโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งได้ย้ายผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 3-5 ราย เข้ารักษาแล้ว และเมื่อโรงพยาบาลหลักมีเตียงว่างจะส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาต่อไป
          นอกจากนี้ยังได้มีการปรับระบบบริการเพื่อลดภาระงาน ลดระยะเวลาการทำงานในหอผู้ป่วย โดยทางโรงพยาบาลบุษราคัมได้ปรับให้จุดแรกรับเจาะเลือด จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์และยาอื่นๆ จัดช่องทางด่วนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการักษาเร็วขึ้น ซึ่งได้รับการนับสนุนจากทหารช่วยขับรถส่งอาหารให้ในหอผู้ป่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่งเอกสาร รวมทั้งเพิ่มคุณภาพการดูแล อาทิ จัดวีลแชร์เพิ่ม จัดเก้าอี้/กล่องกระดาษสำหรับผู้ป่วยใช้ขับถ่าย จัดหาเตียงลมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยวิกฤต ป้องกันเกิดแผลกดทับ และจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์เป็นประจำ
          สำหรับช่องทางในการรับผู้ป่วย จะประสานผ่านสายด่วน 1668 กรมการแพทย์, 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม./ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, 1330 สปสช. จากโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยใน กทม., กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค, และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเขต ปริมณฑล รวมทั้งจากองค์กร/ มูลนิธิ/ หน่วยงานภาคเอกชน/ เครือข่ายจิตอาสา
          นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนมีค่ามากที่สุดในการลดการติดเชื้อ ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยกันอยู่บ้านให้มากที่สุด ลดการเดินทาง เพื่อให้การล็อกดาวน์ครั้งนี้มีประสิทธิภาพ ช่วยตัดวงจรลดการแพร่กระจายเชื้อ และขอแนะนำให้กลุ่ม 608 (ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่ม 7 โรคเสี่ยงและหญิงตั้งครรภ์) เข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะพบว่าการเสียชีวิตในขณะนี้เกิดในกลุ่มนี้มากที่สุด ถ้าเข้ารับการฉีดวัคซีนมาก อัตราการเสียชีวิตก็จะลดลงอีกค่อนข้างมาก และขอให้ทุกคนดูแลตนเองให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ยึดแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรค ด้วยการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกัน และขอให้เชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ทุกหน่วย จะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถเพื่อให้ทุกคนปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้สำเร็จโดยเร็ว

 pageview  1205468    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved