Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/08/2564 ]
กรมสุขภาพจิตแนะดูแลจิตใจผู้ป่วย-บุคลากรรพ.สนามสร้างความพร้อมฝ่าวิกฤติโควิด-19ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง

 ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยถือเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นภาระงานที่หนักมากสำหรับเจ้าหน้าที่และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม โรค โควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลสนาม หลายคนอาจจะเกิดภาวะความเครียด วิตกกังวล ความหวาดหวั่น และสะสมจนท้อแท้ใจ ซึ่งในที่สุดอาจนำมาสู่ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายได้
          นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นเพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 268 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564) วิกฤติสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชนด้วย กรมสุขภาพจิตมีความมุ่งหวังให้ประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนามได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพจิตควบคู่ไปพร้อมกับการดูแลรักษาทางกาย เพราะเมื่อกลับออกจากโรงพยาบาลไปแล้วจะได้มีทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง พร้อมที่จะกลับไปดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
          นายแพทย์สมัยให้ข้อมูลว่ากรมสุขภาพจิตได้บูรณาการการดูแลเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตภายในโรงพยาบาลสนามด้วย 3 กระบวนการได้แก่ 1.การคัดกรองสุขภาพจิตผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลสนามพบว่ามีผู้ได้รับการคัดกรองสุขภาพจิตไปแล้วจำนวน 18,642 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ) แบ่งเป็นผู้ที่มีความเครียดสูงร้อยละ 4.23 มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.54 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ1.95 ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตทั้งหมดที่พบ ทางกรมสุขภาพจิตได้มีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป 2. การให้การดูแลทางจิตใจผู้ป่วยทั้งจากที่ส่งต่อมาจากทีมแพทย์ที่ดูแลประจำวัน(Case Consult) เช่น ที่โรงพยาบาลบุษราคัมจากผู้ป่วยส่งต่อจากที่ทีมแพทย์ได้ให้คำปรึกษาดูแลสุขภาพจิตแล้ว 170 คน และการโทรฯ ให้คำปรึกษาเชิงรุกจำนวน 1,093 คน ซึ่งพบว่าปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก ความกังวลว่าสมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อ กังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ รายได้ กลัวตกงาน ปัญหาภายในครอบครัว รวมถึงบางส่วนเป็นผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชเดิม โดยอาการแสดงออกที่พบบ่อยว่ามีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ นอนไม่หลับ ไม่ทานอาหาร ไม่อยู่นิ่ง การปฏิเสธการรักษา เป็นต้น 3.การสื่อสาร เผยแพร่ความรู้สุขภาพจิตเพื่อการดูแลจิตใจตนเอง เช่น วิธีการผ่อนคลายความเครียด การฝึกสติ ฝึกหายใจ ความรู้สุขภาพจิตเบื้องต้น เป็นต้น
          นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลสนามเพื่อให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จำนวน 10 ข้อ ได้แก่ 1.ทำแบบทดสอบด้านสุขภาพจิต ด้วย Mental Health Check In ช่วยให้ได้รับข้อมูลที่สำคัญซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเป็นความลับใช้เพื่อประเมินอาการด้านสุขภาพจิต 2.หากประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตในระหว่างการพัก เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หากรู้สึกมีความคิดอยากตายหรือทำร้ายตัวเอง ให้รีบแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทันที 3.ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ 4.ตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน และทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น จะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น เช่น การตั้งเป้าอ่านหนังสือ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ตั้งเป้าหมายการพักผ่อน 5.การติดต่อสื่อสาร การพูดคุยกับคนในครอบครัว คนสนิท แฟน และเพื่อน ๆ จะช่วยให้ลดความเหงาและความกังวลของตนเองและคนทางบ้านได้ดี 6.ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ด้วยการพูดคุยระบายความรู้สึกร่วมกันจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกัน อาจได้รับคำแนะนำหรือข้อคิดดี ๆจากเพื่อนใหม่ 7.เป็นจิตอาสา ช่วยเหลืองานโรงพยาบาลสนาม เช่น ช่วยแนะนำการปฏิบัติตัวต่อผู้ที่มาใหม่หยิบยื่นความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั่วไป 8.เคารพกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน เช่น ช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่รบกวนผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง 9.ระวังการถ่ายภาพและวิดีโอ เนื่องจากโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก การถ่ายภาพอาจเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่นและอาจก่อให้เกิดการร้องเรียนทางกฎหมายตามมา 10.สิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วย การปฏิบัติต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ความช่วยเหลือด้วยความสุภาพ ให้เกียรติ เห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องสุขภาพกายและจิตของทุกท่าน
          "ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการกักตัวถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงควรได้รับการปฏิบัติโดยไม่แบ่งแยกทั้งเชื้อชาติสัญชาติหรืออาชีพใด เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ทุกคนมีคุณค่าที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งการเสริมสร้างพลังใจที่เข้มแข็งให้พวกเขาสามารถข้ามผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไปได้" นายแพทย์สมัยกล่าวทิ้งท้าย.

 pageview  1205468    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved