Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 30/05/2561 ]
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มหันตภัยร้ายขยะพิษรอคร่าชีวิตคน

 ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ความหมายไว้ว่า "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หรือ "อีเวสต์" (e-waste) เป็นของเสียที่ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นเรื่องน่าวิตกกังวล เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นในอุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ถือว่าเป็น "พิษ" ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้
          ความทันสมัยของยุคโลกาภิวัตน์ จึงเกิดความหลากหลายของเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้การบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และกระจายไปสู่ประชาชนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์รุ่นใหม่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งหลายคนเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุกปี เพราะมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จากค่ายต่างๆ ออกมาอยู่ตลอด ถ้าไม่เปลี่ยนอาจเป็นคน"ตกเทรนด์" โดยเฉพาะโทรทัศน์จอแอลซีดี และแอลอีดี ที่มีราคาต่ำลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลจนน่าตกใจ ยังไม่รวมคอมพิวเตอร์ ที่หลายคนมีไว้ในครอบครองทั้งพีซีและโน้ตบุ๊ก ซึ่งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้หลายคนไมได้ใช้เต็มประสิทธิภาพหรือเต็มอายุสินค้าเท่าที่ควรจะเป็น เพราะมักจะหาซื้อมาใช้กันใหม่มากมายตามสเปกของเครื่องรุ่นใหม่ที่เย้ายวนใจ
          จะเห็นได้ว่าการก้าวล้ำนำสมัยของเทคโนโลยีมีส่วนเร่งให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในสภาวะตกรุ่นเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีอัตราการเปลี่ยนเครื่องบ่อยที่สุด อายุการใช้งานของเครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 3-5  ปี ขณะที่โทรศัพท์มือถือมีอายุใช้งานเฉลี่ย 18  เดือน นั่นหมายถึงมนุษย์อย่างเราๆ นั่นแหละที่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่ตั้งใจในการสร้าง "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หรือ "กากอุตสาหรรม" ซึ่งขยะเหล่านี้ถือว่าเป็นอันตราย ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำการคัดแยก หรือทำลายขยะเหล่านี้ในประเทศของตน เนื่องจากจะทำให้สารพิษเข้าสู่สภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาได้ในภายหลัง
          แต่เหมือนกฎมีไว้แหก ! เพราะผลประโยชน์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้สร้างเป็นเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล ด้วยการนำมาคัดแยก ชำแหละ แปรรูป ก่อนจัดสรรปันส่วนของที่ "รีไซเคิล" ได้ ส่งขายกลับคืนสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนขยะที่ใช้ไม่ได้จะถูกกำจัดด้วยการเผา ฝังกลบ และวิธีอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อมลภาวะและสิ่งแวดล้อม จึงมีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ และส่วนใหญ่เจ้าของโรงงานคัดแยกขยะก็เป็นคนต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ที่จะเกิดกับคนในประเทศไทย
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้ากวาดล้างนายทุนต่างชาติ ที่ลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตให้คัดแยกทำลายได้ในประเทศอื่น มาเผาทำลายกระจายสารพิษไปทั่วพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนมอบหมายให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่อีก 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการคลัง เข้าตรวจค้นจับกุมโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา
          ปฏิบัติการตรวจจับโรงงาน "ขยะพิษ" เริ่มที่ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) เลขที่ 33 หมู่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่โรงงานมีขนาดประมาณ 4 ไร่ และพื้นที่โดยรอบตัวโรงงานรวมแล้วประมาณ 100 ไร่ นอกจากนั้นยังมีบริษัทลูกในเครืออีก 2 บริษัท จากการเข้าตรวจค้นพบว่า โรงงานยังเปิดทำการปกติ พบขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก  อาทิ คีย์บอร์ด สายไฟ พัดลม ซีพียู คอมพิวเตอร์ แผ่นดิสก์ ฯลฯ ถูกนำมาคัดแยกและแปรรูป ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีการนำเข้าขยะด้วยการสำแดงเท็จ โดยมีเจ้าของเป็นชาวฮ่องกงที่ประกอบกิจการอย่างผิดกฎหมายลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
          จากการเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งแรก เจ้าหน้าที่ได้ขยายผล ก่อนที่วันถัดมาจะเข้าตรวจค้นโรงงานขยะพิษที่เกี่ยวข้องกันอีก 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด เลที่ 88/9 หมู่ 11 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว, บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัดเลขที่ 111/1-8 หมู่ 9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม, บริษัท ทรัพย์เจริญ รีไซเคิล จำกัด เลขที่ 2/2 หมู่ 9 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ บริษัท ซันเหลียน ไทย จำกัด เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จากนั้นอีกวันก็เข้าตรวจค้นโรงงานที่ตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งคาดว่าเป็นผู้นำเข้าแล้วกระจายขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังโรงงานแยกขยะต่างๆ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และล่าสุดวันที่ 29 พฤษภาคม ได้เข้าตรวจค้นบริษัทนำเข้าขยะกากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อกวาดล้างต้นตอให้สิ้นซาก
          พล.ต.อ.วิระชัย อธิบายว่า การคัดแยกขยะพิษ หมายถึงการแยกส่วนประกอบของขยะนั้นออกจากกัน เช่น แผงวงจร ประกอบด้วย ไอซีและแผ่นพลาสติก ซึ่งถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยตะกั่ว ในขั้นตอนการคัดแยกแผ่นพลาสติกเหล่านี้จะถูกนำไปย่างบนเตา เพื่อให้ตะกั่วละลาย และสามารถแยกเอาวัสดุต่างชนิดกันออกจากกัน ตะกั่วที่หลอมละลายจะเข้าไปในสิ่งแวดล้อม ส่วนแผ่นพลาสติกแข็งที่ใช้ทำบอร์ด ก็เป็นขยะพิษที่ไม่สามารถเผาทำลายได้ หากนำไปฝังกลบก็ใช้เวลาหลายร้อยล้านปี กว่าจะย่อยสลาย ต้องเข้าสู่กระบวนการทำลายโดยเฉพาะเท่านั้น เพราะการหลอมแบบไม่ถูกต้อง จะมีสารอันตรายลอยขึ้นมา อาทิ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม เบริลเลียม เฮกซาวาเลนท์โครเมียม และสารประกอบอื่นๆ เมื่อสูดหายใจเข้าไป จะเกิดการสะสมในร่างกาย และเป็นสารก่อมะเร็งทั้งหมด
          "ตอนนี้ประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ ที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีนายทุนต่างชาติลักลอบนำเข้ามา สำแดงเท็จเป็นสินค้ามือสอง โดยเฉพาะบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมีสารพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อชีวิตคนโดยตรง ขณะเดียวกันยังสืบทราบว่าที่ฮ่องกงมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รอการกระจายออกไปสู่ประเทศต่างๆ นับแสนตัน เมื่อเอาเข้ามาในไทยจึงถือว่านำสารพิษมากระจายเพื่อคร่าชีวิตพี่น้องคนไทย จึงต้องมีการกวาดล้างขยายผลเปิดโปงธุรกิจที่มีสารพิษร้ายจำพวกนี้" พล.ต.อ.วิระชัย ระบุ ด้าน
          นายสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า บริษัทต่างชาตินำเข้าขยะเหล่านี้มาจากต่างประเทศ มีการสำแดงสินค้าอันเป็นเท็จว่าเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งพบว่ามีการลักลอบเข้ามา รอบละ ประมาณ 10  ตันต่อเดือน จากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีที่มาจากหลายประเทศ โดยเฉพาะทวีปเอเชีย และขนย้ายกระจายไปตามโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หากดูจากประวัติของขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ก็สืบเนื่องจากในประเทศจีน มีการประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปลายปี 2560 จึงทำให้ขยะเหล่านี้ถูกพักค้างอยู่ในประเทศจีน โดยเฉพาะที่ฮ่องกงจำนวนหลายแสนตัน ดังนั้นนักธุรกิจชาวจีนจึงขนย้ายเครื่องจักรและแรงงานทั้งหมด มาก่อตั้งในประเทศไทย แล้วลักลอบนำขยะเหล่านี้เข้ามา เพื่อคัดแยกเอาวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เมื่อผ่านมาคัดแยกแล้ว ทางโรงงานจะส่งอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ ขนย้ายกลับไปยังประเทศจีน ส่วน ชิ้นส่วนของขยะที่คัดแยกโดยที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะใส่กระสอบ และไปแอบทิ้งไว้ในบ่อขยะ ก่อให้เกิดสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนได้รับผล กระทบเจ็บป่วยได้
          แม้ว่าเราจะมีวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้คนรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์คงไม่จบลงได้ด้วยการรณรงค์แค่ปีละ 1 วัน หากแต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างจิตสำนึกในการใช้งานเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและ ผู้บริโภค โปรดช่วยกันก่อนที่ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยมหันตภัยร้ายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์..!!

 pageview  1204386    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved