Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 15/09/2560 ]
โมเดล...'รพ.ประชารัฐ'ไม่ฟรีแต่ไม่ช้าและไม่แพง!

 ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าการแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือพ.ร.บ.บัตรทอง จะมีการตัดข้อกำหนดเดิมที่ให้ ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง "ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ" ออกไปหรือไม่ แต่สำหรับชาว อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ก้าวข้ามข้อถกเถียงเรื่อง "ร่วมจ่าย" ไปแล้ว เพราะปัจจุบันชาวบ้านสมัครใจที่จะ "ร่วมสมทบ" ให้แก่โรงพยาบาลวันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาท โดยรับสิทธิประโยชน์เพิ่มในโรงพยาบาล ต่อยอดสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในพื้นที่ ตามแนวทาง รพ.ประชารัฐ
          สภาพ รพ.อุบลรัตน์ ที่ผ่านมามีความแออัด ชาวบ้านทนไม่ได้ เมื่อเจ็บป่วยอยากที่จะนอนรักษาตัวในห้องพิเศษ แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชนก็จะเสียเงินเป็นหมื่น หากมา รพ.อุบลรัตน์ ก็มีห้องพิเศษรองรับเพียง 6 ห้องและตามระเบียบราชการต้องเก็บค่าห้องคืนละ 1,000 บาท หากชาวบ้านต้องนอน 10 คืน เป็นเงินถึง 10,000 บาท !!!
          "หลังจากระดมสมองชาว อ.อุบลรัตน์ หลายสิบรอบ พบว่าชาวบ้านอยากได้โรงพยาบาลที่ไม่ต้องถึงกับฟรี แต่ไม่ต้องหมดเป็นหมื่นเป็นแสน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องถึงกับเสร็จภายใน 30 นาที  แต่อย่าให้คิวยาวเหมือนในปัจจุบัน" นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ.รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น  เล่าถึงที่มาของแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล
          เมื่อรับทราบความต้องการของคนในพื้นที่ จึงนำมาสู่การมองหารูปแบบที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว นพ.อภิสิทธิ์บอกว่า จุดเด่นหนึ่งของ โรงพยาบาลที่ชาวบ้านต้องการ คือ "ห้องพิเศษแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข" โดยให้ชาวบ้านที่ยังไม่ป่วยและสมัครใจบริจาคให้โรงพยาบาลวันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาท เมื่อบริจาคแล้วจะได้บุญไม่เจ็บป่วย แต่หากเจ็บป่วยจะมีห้องพิเศษให้พักรักษาฟรี ไม่ต้องเข้าคิวรอและไม่ต้องหมดเงินเป็นหมื่นเป็นแสน พบว่าชาวบ้าน 90% เห็นด้วยกับแนวทางนี้
          หากประเมินดูว่าประชากรร่วมสมทบ 10,000 คน บริจาคคนละ 1,000 บาทต่อปี จะได้เงินบริจาคปีละ 10 ล้านบาทมาชำระเป็นค่าห้องพิเศษให้ รพ.อุบลรัตน์ ตามระเบียบที่ราชการกำหนด  ก็จะเพียงพอและมีเงินในกองทุนเหลือเพื่อนำ ไปใช้พัฒนาต่อยอด โดยปัจจุบัน รพ.อุบลรัตน์ ก่อสร้างอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์บารมีธรรม พระมงคลพรหมสารแล้วเสร็จ และมีห้องพิเศษจำนวน 20 ห้อง พักรักษาได้ห้องละ 1-2 คน  รวมราว 40 เตียง
          "รูปแบบเช่นนี้ก็คล้ายกับการซื้อประกันสุขภาพในปัจจุบัน ที่ให้ชาวบ้านที่สมัครใจจ่ายเงินสมทบขณะที่ยังไม่ป่วยทุกๆ ปี เมื่อเจ็บป่วยก็มีสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากที่สิทธิสวัสดิการภาครัฐกำหนด เช่น ผู้ป่วยบัตรทองก็สามารถนอนรักษาในห้องพิเศษได้ฟรี เป็นการจ่ายเงินสมทบให้โรงพยาบาลในพื้นที่แทนที่จะจ่ายให้บริษัทประกัน ทำให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอง" นพ.อภิสิทธิ์
          กล่าว  เงินในกองทุนที่ชาวบ้านร่วมสมทบให้ โรงพยาบาลนั้น มิเพียงแต่นำมาใช้ในการพัฒนาห้องพิเศษรองรับยามเจ็บป่วยเท่านั้น แต่นำมาเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอุบลรัตน์ด้วย โดย 1 ใน 3 ใช้ในการส่งเยาวชนจิตอาสาที่ดีที่สุดและอยากเป็นพยาบาลชุมชนไปเรียนพยาบาล รวมทั้งจ้างงานมาเป็นพยาบาลประจำตึกห้องพิเศษสัปดาห์ละ 3-4 วัน และอีกสัปดาห์ละ 1-2 วันไปทำงานในหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมผู้ป่วย ทำกิจกรรม ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ช่วยฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย
          นอกจากนี้ เงินอีก 1 ใน 3 นำมาใช้พัฒนาชาวบ้านที่ร่วมบริจาคแล้วมีช่วงจังหวะหนึ่งที่อาจจะบริจาคต่อไม่ไหวเพื่อให้สามารถบริจาคได้ต่อเนื่อง ภายใต้ ยุทธศาสตร์ "กล้วยๆ หมูๆ" ด้วยการมอบหน่อกล้วยให้ไปปลูก 10 หน่อขึ้นไป และนำ ลูกหมูไปเลี่ยง 1 คู่ ซึ่งมูลลูกหมูจะเป็นปุ๋ยให้หน่อกล้วยทำให้กล้วยผลใหญ่ น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 10 เครือ หากขายเครือละ 100 บาท ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ก็สามารถบริจาคต่อเนื่องได้ ขณะที่ ลูกหมู 1 คู่จะออกลูกไม่ต่ำกว่า 2 คอก รวมมากกว่า 5 ตัว ตัวละ 600 บาทขึ้นไป มีรายได้ 3,000 บาท สามารถนำไปเป็นทุนทางการเกษตรและเชิญชวนสมาชิกในครอบครัวมาร่วมบริจาค ไม่เพียงเท่านี้ ยังนำเงินส่วนที่เหลือมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนอุบลรัตน์ด้วย เช่น จ้างงานผู้พิการในพื้นที่
          "การให้ชาวบ้านร่วมสมทบวันละ 3 บาท ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของโรงพยาบาล บวกกับเชิญชวนภาคเอกชนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่มาร่วมสมทบด้วย จะสามารถร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น ไม่ต้องจำนนต่อกำลังคนที่ภาครัฐจัดให้ไม่พอทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่หากชาวบ้านร่วมมือกันก็จะสามารถทำให้พอและบริหารจัดการได้ พึ่งตนเองได้ทางการเงินการคลังทั้งปริมาณและความคล่องตัว" นพ.อภิสิทธิ์กล่าว
          นายวีระ แสนประดิษฐ์ อายุ 70 ปี  ชาวบ้าน อ.อุบลรัตน์ ที่ร่วมสมทบให้โรงพยาบาลปีละ 1,000 บาท บอกว่า มีอาชีพทำไร่ทำนา ใช้สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง ซึ่งคนจนโอกาสที่จะได้นอนห้องพิเศษยามเจ็บป่วยมันยาก แต่เมื่อมีรูปแบบให้ร่วมสมทบก็สมัครใจเข้าร่วมทันที เพราะจำนวนเงินที่บริจาคไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง ที่สำคัญแม้เราไม่ได้มาใช้บริการเพราะไม่เจ็บป่วย แต่ก็เป็นการช่วยเหลือคนป่วยคนอื่นๆ
          "แบบนี้น่าจะมีมาตั้งนานแล้ว การให้บริการ ในโรงพยาบาลรัฐ ไม่ต้องฟรีทั้งหมดก็ได้ ให้ชาวบ้านที่พอมีกำลังทรัพย์ร่วมสมทบได้ก็ให้มีส่วนร่วม โดยโรงพยาบาลพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้น ทั้งสภาพของโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่บริการ การร่วมสมทบวันละ 3 บาทไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง แต่สามารถช่วยพัฒนาโรงพยาบาลก็ยินดี" นายวีระกล่าวด้วยรอยยิ่ม
          ท้ายที่สุด นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มองว่า ปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลประชารัฐประสบความสำเร็จอยู่ที่ประชาชน ชุมชนมีความเข้าใจและร่วมด้วยช่วยกันจริงๆ ถ้าชาวบ้านมองว่าการพัฒนาโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องของเขา แต่เป็นหน้าที่ผอ.และสธ.ที่จะต้องทำเท่านั้น ก็ยากที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาต่อไป นอกจากนี้ การมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่มีนายอำเภอเป็นประธาน จะเป็นการดึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาของพื้นที่ นำมาสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆ มิติให้แก่ชาวบ้าน ไม่เฉพาะในแง่การรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
          ทั้งหมดทั้งมวล การขับเคลื่อนให้ "รพ.ประชารัฐ" สามารถดำเนินการขับเคลื่อนได้อย่างประสบความสำเร็จ คือ "ยึดความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่เป็นสำคัญ และไม่จำเป็นว่าทุกพื้นที่จะต้องมีรูปแบบเหมือนกัน เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีความต้องการที่แตกต่าง" !!!

 pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved