Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 26/08/2558 ]
ปวดหัวบ่อยๆเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน
อาการปวดศีรษะ เชื่อว่าคงเคยเป็นกันทุกคน และคงไม่มีใครที่ไม่เคยบ่น "ปวดหัว" เพราะเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ถือว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะในปัจจุบันพบว่ามีหลายๆ คน ที่มีอาการปวดศีรษะจนไม่สามารถทำงาน หรือดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เลยทีเดียว
          "การปวดศีรษะไม่ใช่โรค แต่เป็นเพียงอาการ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศชายและหญิง สำหรับสาเหตุของอาการปวดศีรษะนั้น มีได้หลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อย มักเกิดจากความเครียด สภาพแวดล้อม อารมณ์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับ ท้ายทอย ปวดรัดตึงรอบศีรษะ นอนไม่หลับ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เป็นต้น ในเบื้องต้นการรักษาอาการปวดศีรษะนั้นเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ รับประทานยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDs การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย เป็นต้น
          แต่การรับประทานยาแก้ปวดนั้นควรอยู่ในการแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ตัวอย่างยาแก้ปวดที่ใช้บ่อย คือ ยาพาราเซตามอล ไม่ควรรับประทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ และยากลุ่ม NSAIDs มีผลทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล หรือมีผลต่อไตได้ นอกจากนี้อาการปวดศีรษะ อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงโรค ที่มีสาเหตุเฉพาะ เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งภาวะหรือโรคเหล่านี้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตหรืออาจทุพพลภาพได้ หากการรักษาล่าช้า ทั้งนี้อาการที่ผู้ป่วยและญาติควรสังเกต ได้แก่ อาการปวดศีรษะรุนแรงกะทันหันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ก้มคอแล้วอาการปวดเป็นมากขึ้น จนบางครั้งมีอาการคอแข็ง มีไข้ อาการปวดศีรษะเป็นมากช่วงเช้า อาจมีอาเจียนร่วมด้วย
          อาการปวดศีรษะสัมพันธ์กับท่านั่ง ท่านอน ไอ จาม เบ่งแล้วปวดศีรษะมากขึ้น อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ชักเกร็งกระตุก ซึมหรือหมดสติ อ่อนแรงหรือชาแขนขา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ มองเห็นภาพลดลง หรือมองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถพยาบาลเพื่อพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากรักษาไม่ทันท่วงที
          ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยในการวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะ ได้แก่ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีที สแกน) และเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) ซึ่งสามารถเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว ทำให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตและทุพพลภาพในอนาคต"
          พญ.จุณัฐ ยศราวาส อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง
          โรงพยาบาลปิยะเวท
 pageview  1205007    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved